น้องคนไหนสนใจเรียนต่อสายบริหารธุรกิจ หลักสูตรอินเตอร์ เชื่อว่าต้องมีคณะบริหารธุรกิจ หลักสูตรอินเตอร์ของจุฬาฯเป็นหนึ่งในตัวเลือกคณะในฝันอย่างแน่นอน วันนี้พี่กริฟฟินเลยจะพาทุกคนมาเจาะลึกข้อมูลเกี่ยวกับ BBA CU กันให้มากขึ้นว่าคณะนี้เรียนอะไร มีสาขาอะไรบ้าง ค่าเทอมเท่าไร มีเกณฑ์รับสมัครยังไง เรียนจบแล้วทำอาชีพอะไรได้บ้าง พร้อมแชร์เทคนิคเตรียมสอบเข้าคณะบริหารอินเตอร์ของจุฬากัน
คณะ BBA จุฬาฯ คืออะไร?
คณะ BBA จุฬาฯ คือ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หลักสูตรอินเตอร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคำว่า BBA ก็ย่อมาจาก Bachelor of Business Administration (บริหารธุรกิจบัณฑิต) ซึ่งอยู่ในความดูแลของ Chulalongkorn Business School (CBS) และเป็นหลักสูตรแรกของจุฬาฯที่เปิดสอนในรูปแบบภาษาอังกฤษทั้งหมด อีกทั้งยังผ่านมาตรฐานระดับสากลอย่าง “Triple Crown Accreditation” จากทั้ง AACSB (Association to Advance Collegiate Schools of Business) องค์กรรับรองสถาบันการศึกษาบริหารธุรกิจและการบัญชีระดับโลก, EQUIS (EFMD Quality Improvement System) ระบบรับรองคุณภาพของสถาบันการศึกษาบริหารธุรกิจในยุโรป และ AMBA (Association of MBAs) ที่เป็นองค์กรรับรองหลักสูตร MBA ระดับโลกอีกด้วย
BBA จุฬาฯ เรียนกี่ปี มีสาขาอะไรบ้าง
สำหรับคณะบริหารธุรกิจ อินเตอร์ของจุฬาฯ เป็นหลักสูตรปริญญาตรีแบบ 4 ปี โดยในช่วงปีแรกของการเรียนจะเป็นการเรียนรายวิชารวมเพื่อปูพื้นฐานเบื้องต้น ก่อนที่จะเลือกสาขาเฉพาะทางที่ต้องการต่อยอดการเรียนในปี 2-4 ได้ตามความต้องการ มีตัวเลือกสาขาการเรียน 2 สาขาใหญ่ ๆ ได้แก่
1. สาขาการบัญชี (Accounting)
เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นให้บัณฑิตได้เรียนรู้เกี่ยวกับหลักการทำบัญชีแบบเจาะลึกทั้งของในประเทศไทยและต่างประเทศ รวมไปถึงได้ศึกษาเกี่ยวกับข้อกฎหมาย ระบบภาษี หลักเศรษฐศาสตร์ การจัดทำรายงานด้านการบัญชีเชิงปฏิบัติ ตลอดจนการใช้งานซอฟต์แวร์ โปรแกรม และเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ในงานบัญชีเพื่อให้สามารถนำมาต่อยอดและปรับใช้เพื่อการทำงานด้านบริหารจัดการธุรกิจสมัยใหม่ได้อย่างคล่องแคล่ว เหมาะกับผู้ที่ต้องการประกอบอาชีพนักบัญชีที่สามารถเติบโตไปเป็น Auditor ในองค์กรระดับโลกได้
2. สาขาการบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Management)
สาขานี้จะมุ่งเน้นการพัฒนาบัณฑิตให้ก้าวทันโลกธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มีความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาและบริหารธุรกิจอย่างรอบด้านทั้งการจัดการธุรกิจ การวางแผนกลยุทธ์การตลาด, การวิเคราะห์ทางการเงิน รวมไปถึงการติดต่อกับคู่ค้าต่างประเทศเพื่อเติบโตไปเป็นผู้ประกอบการธุรกิจในระดับนานาชาติ มีตัวเลือกสาขาย่อยอีก 3 สาขา ดังนี้
- สาขาการจัดการธุรกิจดิจิทัล (Digital Business Management) เป็นสาขาน้องใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวหลักสูตรไปในปี 2023 พัฒนาขึ้นมาเพื่อให้ตอบโจทย์โลกธุรกิจในยุคปัจจุบัน โดยจะเน้นไปที่การส่งเสริมทักษะด้านการบริหารจัดการและวิเคราะห์ธุรกิจเชิงดิจิทัลและ E-Commerce โดยนอกจากจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับหลักการบริหารธุรกิจและการขนส่งระหว่างประเทศแล้ว ยังได้ศึกษาเกี่ยวกับ Machine Learning และการเขียนโค้ดดิ้งเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลทางธุรกิจ เหมาะกับผู้ที่สนใจงานด้านการวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจ หรือประกอบธุรกิจที่เน้นการใช้เครื่องมือดิจิทัลเป็นหลัก
- สาขาการวิเคราะห์การเงินและการลงทุน (Financial Analysis and Investment) หลักสูตรนี้จะมุ่งเน้นไปที่การศึกษาเกี่ยวกับหลักการทางเศรษฐศาสตร์ การวิเคราะห์จัดการการเงิน การบริหารงบการเงิน การวิเคราะห์ความเสี่ยงตลอดจนประเมินและคาดการณ์การลงทุนให้เกิดประโยชน์สูงสุด และจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้งานเครื่องมือวิเคราะห์ทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพร่วมด้วย เหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบตัวเลขและการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุน
- สาขาการจัดการแบรนด์และการตลาด (Brand and Marketing Management) เน้นการศึกษาเกี่ยวกับการบริหารจัดการแบรนด์ วิเคราะห์กลไกทางการตลาดและศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อนำมาพัฒนากลยุทธ์ทางการตลาดทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ ส่งเสริมภาพลักษณ์และสร้างชื่อเสียงให้กับแบรนด์ ตลอดจนการวิเคราะห์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกมาให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค เหมาะกับผู้ที่ต้องการปั้นแบรนด์เป็นของตัวเอง หรือเป็นนักการตลาดให้แบรนด์ดัง ๆ
นอกจากจะสามารถเลือกสาขาการเรียนที่สนใจในช่วงปี 2-4 ได้แล้ว หลักสูตรบริหารธุรกิจ จุฬาฯ อินเตอร์ยังมีโครงการ Exchange Program ที่เปิดโอกาสให้นิสิตได้ไปเรียนแลกเปลี่ยนและฝึกงานที่ต่างประเทศได้ในช่วงปี 3 ได้เป็นจำนวน 1 ภาคการศึกษา ซึ่งก็มีมหาวิทยาลัยคู่ค้าให้เลือกไปแลกเปลี่ยนกว่า 100 แห่งทั่วโลกเลยทีเดียว รวมไปถึงโครงการนี้ยังมีการเปิดรับนักศึกษาต่างชาติจากมหาวิทยาลัยคู่ค้าให้สามารถเลือกเดินทางมาเรียนที่จุฬาฯ ได้ด้วยเช่นกัน ทำให้นิสิตได้มีโอกาสในการศึกษาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและสานสัมพันธ์กับเพื่อนชาวต่างชาติได้อย่างเท่าเทียมกัน
BBA จุฬาฯ ค่าเทอมเท่าไร?
ในส่วนของอัตราค่าเทอมของคณะบริหารธุรกิจ อินเตอร์ จุฬาฯ จะอยู่ที่เทอมละ 84,000 บาท และมีค่าธรรมเนียมมหาวิทยาลัยอีกเทอมละ 21,000 บาท ส่วนในช่วงซัมเมอร์จะมีอัตราค่าเทอมอยู่ที่ 36,000 บาท และค่าธรรมเนียมมหาวิทยาลัย 5,250 โดยรวมแล้วจะอยู่ที่ปีละประมาณ 210,000 บาท หรือ 251,250 บาท (กรณีลงเรียนซัมเมอร์) โดยจะมีรายละเอียดตามตารางด้านล่าง
ค่าเทอม | ค่าเทอม (ปกติ) เทอมละ | ค่าเทอม (ซัมเมอร์) เทอมละ |
ค่าธรรมเนียมมหาวิทยาลัย | 21,000 | 5,250 |
ค่าเทอม | 84,000 | 36,000 |
รวมทั้งหมด | 105,000 บาท | 41,250 |
ค่าธรรมเนียมการสอบเข้า (จ่ายครั้งเดียว) | 1,500 | |
ค่าเทอมรวม 4 ปี + ค่าธรรมเนียมสอบเข้า | 841,500 บาท (ไม่ลงเรียนซัมเมอร์) | 1,006,500 (กรณีลงเรียนซัมเมอร์ทุกปี) |
ทั้งนี้ สำหรับคนที่เข้าร่วมโครงการ Exchange Program เรียนแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศ จะต้องชำระค่าเทอมเพิ่มเติมตามอัตราที่มหาวิทยาลัยคู่ค้ากำหนด (งดเว้นค่าเทอมและค่าธรรมเนียมมหาวิทยาลัยที่จุฬาฯ ในเทอมที่ไปแลกเปลี่ยน)
เกณฑ์รับสมัครนิสิตคณะบริหารธุรกิจ อินเตอร์ จุฬาฯ
น้องคนไหนสนใจอยากเรียนต่อคณะบริหารธุรกิจ หรือเรียนต่อบัญชี จุฬาฯ อินเตอร์ แต่ยังไม่ทราบว่าต้องใช้คะแนนอะไรในการยื่นสมัครเรียน หรือต้องเตรียมตัวสอบอะไรบ้าง พี่กริฟฟินก็ได้เอาเกณฑ์การรับสมัครนิสิตพร้อมรอบการรับสมัครและจำนวนนิสิตที่เปิดรับต่อปีมาไว้ให้แล้ว
BBA จุฬาฯ รับปีละกี่คน เปิดรับนิสิตกี่รอบ
คณะนี้จะเปิดรับสมัครนิสิตรวมทั้งหมด 200 คน ปีละ 2 ครั้ง โดยจะแบ่งออกเป็นรอบ Early Admission และรอบ Admission ในระบบ TCAS โดยผู้สมัครทุกคนจะต้องเป็นผู้ที่กำลังศึกษา หรือจบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า (สามารถใช้การเทียบวุฒิ เช่น GED, IGCSE/ A level และวุฒิม.ปลายนานาชาติอื่น ๆ ยื่นสมัครเรียนได้) และมีเกณฑ์รับสมัครของแต่ละรอบตามตาราง ดังนี้
คะแนนผลสอบวัดระดับภาษาอังกฤษ (อย่างใดอย่างหนึ่ง) | คะแนนผลสอบวัดความถนัดทางคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ (อย่างใดอย่างหนึ่ง) | จำนวนนิสิตที่รับ | |
รอบ Early Admission (ปกติ) | TOEFL (iBT) ≥ 79
IELTS ≥ 6.5 CU-TEP & Speaking ≥ 101 |
CU-AAT (Math & Verbal) ≥ 1200
SAT (Math & Verbal) ≥ 1270 |
180 คน |
รอบ Early Admission (BBA-NextGen Admission)* | TOEFL (iBT) ≥ 79
IELTS ≥ 6.5 CU-TEP & Speaking ≥ 101 |
CU-AAT (Math) ≥ 1230
SAT (Math) ≥ 1300 |
10 คน |
รอบ Admission | TOEFL (iBT) ≥ 79
IELTS ≥ 6.5 CU-TEP & Speaking ≥ 101 |
CU-AAT (Math & Verbal) ≥ 1200
SAT (Math & Verbal) ≥ 1270 |
10 คน |
*ผู้ที่ลงสมัครในรอบ Early Admission (BBA-NextGen Admission) จะต้องแนบ Video Resume และ Portfolio ที่แสดงถึงความสามารถทางด้านวิชาการในระดับชาติ หรือระดับนานาชาติ ด้านธุรกิจ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือการสื่อสาร ควบคู่ไปกับใบสมัครด้วย
ทั้งนี้ ข้อมูลข้างต้นอ้างอิงมาจากประกาศรับสมัครนิสิตจากปีประกาศรับสมัคร 2568 โดยอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต น้อง ๆ สามารถรอติดตามประกาศรับสมัครนิสิตอย่างเป็นทางการจาก เว็บไซต์ ของคณะได้เลย
จบ BBA จุฬาฯ สามารถทำงานอะไรได้บ้าง เงินเดือนเท่าไร
ถ้าใครกังวลเรื่องการหางานในอนาคต ก็ขอบอกเลยว่าบัณฑิตที่เรียนจบจากหลักสูตรบริหารธุรกิจ จุฬาฯ มามีงานรองรับแน่นอน แต่ตัวอาชีพก็จะขึ้นอยู่กับ “สาขา” ที่น้อง ๆ เลือกเรียนด้วย ซึ่งถ้าใครอยากทำงานตรงสายการเรียนที่จบมา พี่กริฟฟินก็เอาตัวอย่างอาชีพพร้อมเงินเดือนเริ่มต้นเฉลี่ยมาฝากกัน (ขอบคุณข้อมูลเงินเดือนจาก JobsDB)
สาขาการบัญชี (Accounting)
สำหรับคนที่เลือกเรียนสาขาการบัญชีก็มี “อาชีพ” รองรับแบบแน่นอน เพราะอาชีพสายการบัญชีเป็นตำแหน่งที่ “ทุกบริษัท” จำเป็นต้องมี จึงมีอัตราการรับสมัครสูงอยู่ตลอดเวลาและมีโอกาสตกงานต่ำมาก รวมไปถึงยังมีบริษัทที่เป็นความใฝ่ฝันของสายอาชีพนี้อย่าง “BIG 4” อย่าง Deloitte, Ernst & Young (EY), PricewaterhouseCoopers (PwC) และ Klynveld Peat Marwick Goerdeler (KPMG) ที่เป็นบริษัทบัญชีชื่อดังระดับโลก โดยอาชีพในสายงานการบัญชีก็มีตัวเลือกสายงาน ดังนี้
- นักบัญชีทั่วไป เงินเดือนเริ่มต้น 19,000 – 30,000 บาท
- นักบัญชีการเงิน เงินเดือนเริ่มต้น 22,000 – 35,000 บาท
- นักบัญชีภาษี เงินเดือนเริ่มต้น 33,000 – 55,000 บาท
- เจ้าหน้าที่ทางการเงิน เงินเดือนเริ่มต้น 22,000 – 27,000 บาท
- นักตรวจสอบบัญชี เงินเดือนเริ่มต้น 31,000 – 50,000 บาท
- พนักงานเร่งรัดหนี้สิน เงินเดือนเริ่มต้น 55,000 – 65,000 บาท
- เจ้าหน้าที่วิเคราะห์การเงิน เงินเดือนเริ่มต้น 40,000 – 64,000 บาท
- ผู้ตรวจสอบงบการเงิน เงินเดือนเริ่มต้น 30,000 – 45,000 บาท
สาขาการจัดการธุรกิจดิจิทัล (Digital Business Management)
ในส่วนของการเรียนสาขาด้านการจัดการธุรกิจดิจิทัลนั้นก็เป็นอีกสาขาที่สามารถนำเอาทักษะและความรู้ที่เรียนมาไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพได้อย่างหลากหลาย ทั้งในสายธุรกิจและสายการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งในอนาคตที่ตลาด E-Commerce และการทำธุรกิจบนแพลตฟอร์มดิจิทัลเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ก็คาดว่าจะมีตัวเลือกอาชีพมากเพิ่มขึ้นอีก
- UX/UI Designer เงินเดือนเริ่มต้น 30,000 – 50,000 บาท
- นักวิเคราะห์ข้อมูล เงินเดือนเริ่มต้น 30,000 – 43,000 บาท
- นักวิเคราะห์ธุรกิจ เงินเดือนเริ่มต้น 35,000 – 58,000 บาท
- นักวิเคราะห์ระบบธุรกิจ เงินเดือนเริ่มต้น 30,000 – 43,000 บาท
- นักวิเคราะห์การตลาด เงินเดือนเริ่มต้น 35,000 – 45,000 บาท
- นักการตลาดดิจิทัล เงินเดือนเริ่มต้น 34,000 – 43,000 บาท
- นักวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ทางธุรกิจ เงินเดือนเริ่มต้น 34,000 – 53,000 บาท
- นักวิเคราะห์ข้อมูลการขาย เงินเดือนเริ่มต้น 37,000 – 49,000 บาท
- ที่ปรึกษาด้านการจัดการธุรกิจ เงินเดือนเริ่มต้น 30,000 – 55,000 บาท
สาขาการวิเคราะห์ทางการเงินและการลงทุน (Financial Analysis and Investment)
งานในสายการเงินและการลงทุนนั้นไม่ได้มีเฉพาะแค่งานพนักงานธนาคารทั่วไปเท่านั้น แต่ในธุรกิจและอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ ก็มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินและการลงทุนไว้เพื่อช่วยในการบริหารจัดการความเสี่ยงในการทำธุรกิจด้วยเช่นกัน จึงมั่นใจได้เลยว่าลงเรียนสาขานี้จบมามีงานทำแน่นอน ตัวเลือกอาชีพในสายนี้ ได้แก่
- พนักงานธนาคาร เงินเดือนเริ่มต้น 35,000 – 39,000 บาท
- เจ้าหน้าที่การเงินทั่วไป เงินเดือนเริ่มต้น 22,000 – 27,000 บาท
- พนักงานสินเชื่อ เงินเดือนเริ่มต้น 17,000 – 30,000 บาท
- เจ้าหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อ เงินเดือนเริ่มต้น 38,000 – 60,000 บาท
- นักวิเคราะห์การเงิน เงินเดือนเริ่มต้น 25,000 – 40,000 บาท
- นักวิเคราะห์การลงทุน เงินเดือนเริ่มต้น 37,000 – 68,000 บาท
- นักวางแผนทางการเงิน เงินเดือนเริ่มต้น 36,000 – 50,000 บาท
- ที่ปรึกษาทางการเงิน เงินเดือนเริ่มต้น 30,000 – 58,000 บาท
- เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ทางการเงิน เงินเดือนเริ่มต้น 40,000 – 64,000 บาท
สาขาการจัดการแบรนด์และการตลาด (Brand and Marketing Management)
สายงานด้านการตลาดและการจัดการแบรนด์ก็เป็นอีกสาขาที่กำลังมาแรง เพราะในยุคที่ธุรกิจต้องแข่งขันกันอย่างเข้มข้น ผู้ที่มีแผนกลยุทธ์ทางการตลาดที่ดีก็จะช่วยเพิ่มยอดขายและสร้างรายได้ให้ธุรกิจขับเคลื่อนไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยการเรียนในสาขานี้ก็สามารถนำเอาความรู้ไปประกอบอาชีพได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น
- นักการตลาด เงินเดือนเริ่มต้น 21,000 – 40,000 บาท
- นักการตลาดดิจิทัล เงินเดือนเริ่มต้น 34,000 – 43,000 บาท
- เจ้าหน้าที่ประสานงานการตลาด เงินเดือนเริ่มต้น 22,000 – 25,000 บาท
- นักวิเคราะห์การตลาด เงินเดือนเริ่มต้น 35,000 – 45,000 บาท
- นักวางแผนยุทธศาสตร์ทางการตลาด เงินเดือนเริ่มต้น 34,000 – 53,000 บาท
- เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ เงินเดือนเริ่มต้น 24,000 – 28,000 บาท
- เจ้าหน้าที่ประสานงานอีเวนท์ เงินเดือนเริ่มต้น 22,000 – 29,000 บาท
- เจ้าหน้าที่ฝ่ายขายและการตลาด เงินเดือนเริ่มต้น 23,000 – 31,000 บาท
- ผู้พัฒนาแบรนด์สินค้า เงินเดือนเริ่มต้น 38,000 – 65,000 บาท
นอกจากนี้ หลักสูตรบริหารธุรกิจ จุฬาฯ ยังสอดแทรกความรู้ด้านการเป็นผู้ประกอบการเอาไว้ในทุกสาขาการเรียน ดังนั้นถ้าหากใครมีเป้าหมายในการสร้างธุรกิจเป็นของตัวเองก็สามารถเริ่มต้นได้ไม่ยากเลย
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการเรียน BBA จุฬาฯ
เรียน GED ยื่นเข้า BBA จุฬาฯ ได้ไหม ?
เข้าได้แน่นอน เพราะเกณฑ์การรับสมัครของคณะระบุว่ารับวุฒิม.6 หรือเทียบเท่า จึงสามารถใช้วุฒิ GED และวุฒินานาชาติอื่น ๆ ที่เทียบเท่าระดับมัธยมปลายยื่นเข้าเรียนต่อได้ โดยผู้ที่ยื่นวุฒิ GED ในการสมัครเรียนจะต้องมีคะแนนขั้นต่ำอย่างน้อย 145 คะแนนขึ้นไปในทุกรายวิชา และต้องทำการ แปลงคะแนนและยื่นเทียบวุฒิ ให้เรียบร้อยก่อนการยื่นสมัครเรียน
คณะบริหารธุรกิจ อินเตอร์ จุฬาฯ เหมาะกับใคร ?
คณะนี้เหมาะกับน้อง ๆ ที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการ สร้างธุรกิจเป็นของตัวเอง หรือทำงานในองค์กรธุรกิจระดับนานาชาติในสาขาการบัญชีและการเงิน
อยากเรียนต่อ BBA CU ต้องเตรียมตัวยังไง ?
สำหรับน้องคนไหนที่อยากเรียนต่อในคณะนี้ พี่กริฟฟินก็ขอแนะนำให้เริ่มเตรียมตัวสอบวัดระดับภาษาอังกฤษและฝึกทำข้อสอบความถนัดทางคณิตศาสตร์ให้พร้อม เพราะการจะเข้าเรียนที่นี่จะต้องใช้คะแนนทั้ง 2 ส่วนในการยื่นสมัครเรียน ซึ่งคณะนี้ก็ถือว่าเป็นคณะที่มีการแข่งขันกันค่อนข้างสูงและคะแนนเฉลี่ยสูงขึ้นในทุกปี ดังนั้นถ้าเตรียมตัวอ่านสอบตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็จะมีเวลาในการทบทวนเนื้อหาการสอบมากขึ้น แต่สำหรับน้องคนไหนที่มีเวลาจำกัดและมองหาตัวช่วยในการติวสอบ ก็สามารถเลือกติวสอบกับ House of Griffin ได้เลย เพราะมีทั้งคอร์สติวสอบ GED, IELTS TOEFL CU-TEP CU-AAT และ SAT ให้เลือกเรียนแบบครบถ้วนทุกความต้องการ โดยนอกจากทุกคอร์สจะสอนโดยครูผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์หลายปีแล้ว ยังมีทีมวิชาการคอยช่วยเหลือน้อง ๆ ทุกคนในทุกขั้นตอนอีกด้วย