โดย ครูแก้ม House of Griffin

ใครที่อยากสอบเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนสาธิตนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ MUIDS แต่ไม่ค่อยถนัดเรื่อง Grammar หรือการเขียน Essay บอกเลยว่าพลาดบทความนี้ไม่ได้จ้า เพราะวันนี้คุณครูจะมาบอก “10 หัวข้อที่ต้องรู้ให้ครบก่อนสอบ MUIDS TOEFL ITP (Structure) and Essay” มีอะไรบ้าง ตามมาดูกันเลย!
1. โครงสร้างประโยคในภาษาอังกฤษ
ไม่ว่าจะเป็นข้อสอบในส่วนของ TOEFL หรือ Essay ผู้สอบก็จำเป็นต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างประโยคนะคะ
ประโยคที่ถูกต้องตามหลักการเขียนในภาษาอังกฤษจะต้องประกอบด้วย 2 ส่วนที่ขาดไม่ได้เลย นั่นก็คือ ประธาน (Subject) และกริยา (Verb) หากขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไปจะกลายเป็นประโยคที่ไม่สมบูรณ์หรือที่เรียกว่า Fragment
ในประโยคประโยคหนึ่งอาจจะมีประธานหรือกริยามากกว่า 1 คำก็ได้ แต่ต้องแน่ใจว่าทุก ๆ คำถูกเขียนเรียงตามลำดับที่ถูกต้องตามโครงสร้างของประโยคในภาษาอังกฤษ ตัวอย่างโครงสร้างประโยคที่พบบ่อยในภาษาอังกฤษ เช่น
1) S + V
ประธาน + กริยา
2) S + V + O
ประธาน + กริยา + กรรม
3) S + V + O + O
ประธาน + กริยา + กรรมรอง + กรรมตรง
4) S + V + C
ประธาน + กริยา + ส่วนเติมเต็ม
5) S + V + O + C
ประธาน + กริยา + กรรม + ส่วนเติมเต็ม
2. หน้าที่ของคำชนิดต่าง ๆ ที่อยู่ในประโยค
ในข้อสอบ TOEFL Structure and Written Expression และข้อสอบ Essay จะมีการวัดความเข้าใจของผู้สอบเกี่ยวกับการใช้คำชนิดต่าง ๆ ในภาษาอังกฤษด้วยนะคะ ซึ่งตามหลักแล้วจะมีการจำแนกคำออกเป็น 8 ชนิดด้วยกัน ได้แก่
1) Noun (คำนาม)
หมายถึง คำที่ใช้เรียกแทนสิ่งต่าง ๆ ทำหน้าที่เป็นประธานหรือกรรมในประโยค
2) Pronoun (คำสรรพนาม)
หมายถึง คำที่ใช้เรียกแทนคำนาม สามารถทำหน้าที่ได้เหมือนคำนาม
3) Verb (คำกริยา)
หมายถึง คำที่ใช้บอกการกระทำหรือสภาพที่เป็นอยู่ สามารถเปลี่ยนรูปคำได้หลากหลาย
4) Adjective (คำคุณศัพท์)
หมายถึง คำที่ใช้บอกคุณลักษณะเฉพาะของคำนาม
5) Adverb (คำวิเศษณ์)
หมายถึง คำที่ใช้บอกคุณลักษณะเฉพาะของคำกริยา คำคุณศัพท์ หรือคำวิเศษณ์คำอื่น
6) Preposition (คำบุพบท)
หมายถึง คำที่ใช้เชื่อมระหว่างคำในประโยค โดยมักจะเกี่ยวข้องกับคำนาม คำสรรพนาม หรือคำกริยาในประโยค
7) Conjunction (คำสันธาน)
หมายถึง คำที่ใช้เชื่อมระหว่างคำ วลี หรือประโยค เพื่อรวมใจความเข้าด้วยกัน หรือทำให้ประโยคซับซ้อนยิ่งขึ้น
8) Interjection (คำอุทาน)
หมายถึง คำที่ใช้แสดงอารมณ์หรือความรู้สึกเพื่อเพิ่มอรรถรสในการสื่อสาร
3. การวางส่วนขยายไว้หน้าคำหลักในประโยค
ส่วนขยาย หรือ Modifiers ในประโยคภาษาอังกฤษ ทำหน้าที่ขยายความคำ วลี หรือประโยคย่อย เพื่อให้ได้ความหมายที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น คำที่ใช้กันบ่อย ๆ ก็เช่น คำคุณศัพท์ (Adjective) และคำวิเศษณ์ (Adverb) นั่นเอง
แต่นอกจากจะรู้จักชนิดของคำแล้ว การเรียงลำดับคำในภาษาอังกฤษก็จะเป็นอีกหัวข้อที่จำเป็นมากในการทำข้อสอบทั้งสองส่วนนะคะ
โดยทั่วไปในภาษาอังกฤษจะมีวิธีเรียงคำ (Word Order) แตกต่างจากในภาษาไทย นั่นคือ ในภาษาอังกฤษคำที่อยู่นำหน้ามักจะเป็นส่วนขยาย ในขณะที่คำที่ตามหลังมาจะเป็นคำหลัก ตัวอย่างเช่น
ในวลี “successful students” ประกอบด้วยคำหลักคือ students ที่เป็นคำนาม และตามด้วยส่วนขยายคือคำว่า successful ที่เป็นคำคุณศัพท์วางไว้ด้านหน้า เมื่อแปลความหมาย เราจะแปลจากหลังไปหน้า จึงได้ความว่า “นักเรียนที่ประสบความสำเร็จ”
แต่อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีเราสามารถวางส่วนขยายไว้ด้านหลังคำหลักได้ ตัวอย่างเช่น
ในประโยค “Listen carefully.” ประกอบด้วยคำหลักคือคำว่า Listen ที่เป็นคำกริยา และตามด้วยส่วนขยายคือคำว่า carefully ที่เป็นคำวิเศษณ์ขยายคำกริยา ในที่นี้เราต้องแปลจากหน้าไปหลัง จึงได้ความว่า “จงฟังอย่างตั้งใจ”
4. การใช้คำกริยาในประโยค
คงยากที่จะปฏิเสธว่าในข้อสอบภาษาอังกฤษส่วนมากหนีไม่พ้นเรื่องการถามความเข้าใจเกี่ยวกับใช้คำกริยา (Verb) ในประโยค โดยหัวข้อที่มักจะถูกถามเป็นประจำก็คือ
1) การเปลี่ยนรูปคำกริยาที่ตามช่วงเวลาต่าง ๆ (Verb Tense)
ในภาษาอังกฤษจะมีจุดเด่นตรงที่การใช้รูปคำกริยา (Verb Form) สามารถเปลี่ยนแปลงตามช่วงเวลา (Tense) ได้ ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลาหลัก ๆ ได้แก่ Present, Past, และ Future หากผู้สอบสามารถบอกได้ว่าควรใช้กริยารูปแบบใดในประโยคที่โจทย์ให้มาก็จะมีโอกาสทำคะแนนได้ดีค่ะ
2) การใช้กริยาที่สัมพันธ์กับประธานของประโยค (Subject and Verb Agreement)
บางครั้งข้อสอบก็อาจจะวัดความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประธานและกริยาในประโยคได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นผู้สอบไม่ควรพลาดที่จะไปศึกษาเกี่ยวกับกฎการใช้คำกริยาร่วมกับคำอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างเช่น
- คำนามนับได้และคำนามนับไม่ได้ (Countable and Uncountable Noun)
- คำนามเอกพจน์และคำนามพหูพจน์ (Singular and Plural Noun)
- คำสรรพนามไม่ชี้เฉพาะ (Indefinite Pronoun)
- คำบอกปริมาณ (Quantifier)
- คำสันธาน (Conjunction) เป็นต้น
และในข้อสอบ TOEFL หรือแม้แต่ในข้อสอบ Essay ผู้สอบก็ต้องจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวเรื่องนี้เป็นอย่างดีนะคะ
ในบทความนี้ผู้เขียนขอแนะนำให้ผู้สอบไปศึกษาวิธีใช้ 5 Verb Forms ต่อไปนี้มาให้ดี ๆ นะคะ เพราะว่าออกสอบบ่อยมากจ้า
- Base form
- Present Simple
- Present Participle
- Past Simple
- Past Participle
รวมถึงต้องเข้าใจเกี่ยวกับกริยาแท้ (Finite Verb) และกริยาไม่แท้ (Non-finite Verb) มาด้วยนะคะ เพราะจะช่วยให้เราแยกแยะระหว่างกริยาหลักและส่วนขยายในประโยคได้ง่ายขึ้นค่ะ
5. การใช้คำสันธานในประโยค
คำสันธาน (Conjunction) เป็นคำอีกชนิดที่มีความสำคัญมากในการเชื่อมความหมายของคำ วลี หรือประโยคที่เกี่ยวข้องในบริบท เวลาเราเลือกใช้คำชนิดนี้ก็จะต้องพิจารณาด้วยว่ามันกำลังเชื่อมกับส่วนใดของประโยคและแสดงความสัมพันธ์ระหว่างใจความอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น
1) Coordinating Conjunctions
เป็นคำสันธานที่สามารถเชื่อมได้ทั้งระดับคำกับคำ วลีกับวลี และประโยคย่อยกับประโยคย่อย ส่วนมากในข้อสอบมักจะเป็นการใช้คำสันธานชนิดนี้เพื่อรวมประโยคย่อยเข้าด้วยกัน กลายเป็น ประโยคความรวม (Compound Sentence)
สมาชิกในกลุ่มนี้ประกอบด้วยคำ 7 คำ บางคนน่าจะรู้จักกันในชื่อเรียกย่อ ๆ ว่า FANBOYS อันเกิดจากการนำตัวอักษรตัวแรกของคำสันธาน 7 คำที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้มารวมกันเพื่อให้ง่ายต่อการจดจำมากขึ้น และคำทั้ง 7 คำนั้นได้แก่คำว่า
- F = For แปลว่า เพราะว่า
- A = And แปลว่า และ
- N = Nor แปลว่า หรือ (ในทางปฏิเสธ)
- B = But แปลว่า แต่
- O = Or แปลว่า หรือ
- Y = Yet แปลว่า แต่
- S = So แปลว่า ดังนั้น
เวลาจะใช้คำเหล่านี้ก็มักจะต้องมีเครื่องหมาย Comma (,) ควบคู่ไปด้วย หากใครยังไม่รู้ว่าจะใช้ Comma ร่วมกับ Coordinating Conjunctions ในกรณีไหนบ้างก็ต้องรีบไปศึกษาเพิ่มเติมแล้วน้า
2) Subordinating Conjunctions
เป็นคำสันธานที่มักใช้ในการเชื่อมระหว่างประโยคกับประโยค เราจะใช้คำสันธานชนิดนี้เพื่อรวมประโยคเข้าด้วยกัน กลายเป็น ประโยคความซ้อน (Complex Sentence)
สมาชิกในกลุ่มนี้ประกอบด้วยคำจำนวนมาก ผู้สอบจะต้องพยายามทำความเข้าใจว่าแต่ละคำใช้แสดงความสัมพันธ์ระหว่างใจความอย่างไรบ้างนะคะ ตัวอย่างเช่น
- Because / Since/ As — ใช้แสดงสาเหตุ
- If / When / Unless — ใช้แสดงเงื่อนไข
- Although / Even though / Though — ใช้แสดงความขัดแย้ง
6. การสร้างและหน้าที่ของอนุประโยค
อนุประโยค หรือที่บางคนเรียกกันว่า Clause เป็นประโยคย่อยที่อยู่ในประโยคหลัก (Sentence) อีกทีหนึ่ง ผู้สอบจะต้องทำความเข้าใจวิธีการสร้างอนุประโยคและหน้าที่ของมันให้ดี ๆ เพราะออกสอบแน่นอน 100% จ้า
ในบทความนี้คุณครูจะพามาทำความรู้จัก Clause ชนิดต่าง ๆ ที่พบบ่อยในข้อสอบกันนะคะ
- Noun Clause — นามานุประโยค ทำหน้าที่เหมือนเป็น คำนาม (Noun)
- Adjective Clause — คุณานุประโยค ทำหน้าที่เหมือนเป็น คำคุณศัพท์ (Adjective)
- Adverb Clause — วิเศษณานุประโยค ทำหน้าที่้เหมือนเป็น คำวิเศษณ์ (Adverb)
ในข้อสอบจริงจะไม่ได้ถามว่าประโยคนี้เรียกชื่อว่าอะไรนะคะ เพราะฉะนั้นน้อง ๆ ไม่จำเป็นต้องจำชื่อแบบเป๊ะ ๆ ก็ได้ แต่สิ่งที่ควรทำความเข้าใจและฝึกทำให้เป็น ก็คือ การใช้คำเชื่อม (Connector) ร่วมกับ Clause เหล่านี้ และการระบุตำแหน่งของประธาน (Subject) และกริยาหลัก (Main Verb) ที่อยู่ใน Clause ซึ่งเราจะรู้ได้โดยการสังเกตคำบอกใบ้ (Clues) ที่ให้มาในโจทย์นะคะ
7. การสร้างคำชนิดต่าง ๆ โดยเติมคำลงท้าย
ในภาษาอังกฤษมีวิธีสร้างคำใหม่ ๆ ด้วยการเปลี่ยนคำลงท้ายหรือคำปัจจัย (Suffix) เพื่อเปลี่ยนชนิดของคำได้ น้อง ๆ ลองศึกษาจากตัวอย่างในตารางต่อไปนี้นะคะ
Noun | Verb | Adjective | Adverb |
---|---|---|---|
beauty | beautify | beautiful | beautifully |
action | activate | active | actively |
romance | romanticize | romantic | romantically |
จากตาราง เราสามารถเรียนรู้ได้ว่า
- คำลงท้ายที่สร้างคำนามได้ เช่น -y, -ion, -ance
- คำลงท้ายที่สร้างคำกริยาได้ เช่น -ify, -ate, -ize
- คำลงท้ายที่สร้างคำคุณศัพท์ได้ เช่น -ful, -ive, -ic
- คำลงท้ายที่สร้างคำวิเศษณ์ได้ เช่น -ly
ในข้อสอบตอนที่ 2 หรือ Written Expression ผู้สอบจะต้องหาจุดที่ผิดในประโยค และจะต้องอาศัยความรู้เรื่องนี้ในการตอบคำถามเป็นอย่างมาก บอกเลยว่าใครที่ จำได้ ใช้เป็น เห็นปุ๊บแล้วมองออกปั๊บ ก็รอดูคะแนนปัง ๆ ของตัวเองได้เลยจ้า
8. เครื่องหมายวรรคตอนที่ใช้ในการเขียนประโยค
รู้หรือไม่ว่าเครื่องหมายวรรคตอน (Punctuation) 3 ชนิดที่พบบ่อยที่สุดในข้อสอบ TOEFL Structure and Written Expression ได้แก่
- Period หรือ Full-stop (.) ใช้ในการจบประโยคบอกเล่าหรือปฏิเสธ
- Comma (,) ใช้ในการคั่นระหว่างคำ วลี หรืออนุประโยค ที่อยู่ในประโยค
- Apostrophe (’) ใช้ในการเขียนคำโดยย่อหรือแสดงความเป็นเจ้าของ
อย่างไรน้อง ๆ ควรไปศึกษาที่วิธีใช้เครื่องหมายเหล่านี้ในประโยคมาให้ดี ๆ ด้วยนะคะ
9. ส่วนประกอบสำคัญในการเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ
การเขียนเรียงความ (Essay Writing) เป็นอีกส่วนสำคัญที่จะนำคะแนนไปพิจารณาว่าน้อง ๆ จะสอบผ่านหรือไม่ ซึ่งเกณฑ์ที่กำหนดไว้ก็คือ ควรได้คะแนน 2.8 จากคะแนนเต็ม 4 จึงจะเข้าเกณฑ์ที่ทาง MUIDS กำหนดนะคะ
เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว น้อง ๆ ก็ควรที่จะศึกษาให้ดีว่าในเรียงความของเราจะต้องมีส่วนประกอบสำคัญอะไรบ้าง ซึ่งบางคนอาจจะนึกถึงเรียงความในวิชาภาษาไทยก็ได้นะคะ เพราะจริง ๆ แล้วมันไม่ต่างกันเลยจ้า และส่วนประกอบสำคัญที่ว่านี้ ก็คือ
ส่วนที่ 1 คำนำ (Introduction)
เป็นส่วนที่ทำหน้าที่เปิดประเด็นหรือเกริ่นนำเกี่ยวกับหัวข้อที่เรากำลังจะเขียน การเขียนคำนำที่ดี ผู้สอบจะต้องแน่ใจว่ามีการใส่คำสำคัญจากสถานการณ์ที่โจทย์ให้มา และอย่าลืมบอกใจความสำคัญของเรียงความนี้ (Thesis Statement) ไว้ในช่วงท้ายของย่อหน้าแรกนี้ด้วยนะคะ อ้อ! และถ้าใครสามารถเขียนประโยคขึ้นต้นหรือที่เรียกว่า Hook ให้มีความโดดเด่น แตกต่าง และน่าสนใจก็มีโอกาสสร้างความประทับใจแรก (First Impression) ให้กับกรรมการที่ตรวจงานเขียนของเราด้วยน้า อย่างไรลองหาตัวอย่างงานเขียนมาศึกษาเพิ่มเติมกันนะคะ
ส่วนที่ 2 เนื้อหา (Body)
เป็นส่วนที่ทำหน้าที่อธิบายเหตุผลประกอบความคิดเห็นของเรา ส่วนนี้จะมีผลต่อคะแนนมากที่สุดนะคะ หากใครไม่แน่ใจว่าควรเขียนอะไรบ้างในส่วนนี้ ลองดูจาก Checklist ที่ให้ไว้ด้านล่างนี้นะจ๊ะ
- ระบุเหตุผลที่ชัดเจน มีรายละเอียดสนับสนุนครบถ้วนและสมเหตุสมผล
- เรียบเรียงความคิดและอธิบายขยายความได้อย่างต่อเนื่องโดยใช้คำเชื่อมอย่างถูกต้องเหมาะสม
- มีตัวอย่างเพื่อทำให้ข้อสนับสนุนที่อ้างอิงเข้าใจได้ง่ายขึ้น
- เลือกใช้คำศัพท์เพื่อสื่อความหมายให้กระชับและตรงประเด็น
- มีโครงสร้างประโยคและใช้ภาษาได้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์
ส่วนที่ 3 สรุป (Conclusion)
เป็นส่วนที่ทำหน้าที่ตามชื่อเลยค่ะ ก็คือสรุปประเด็นทั้งหมดที่เราได้เขียนอธิบายไป และบางคนอาจจะคิดว่าส่วนนี้ไม่สำคัญ แต่ขอบอกเลยไม่จริงนะคะ เพราะกรรมการก็จะดูเหมือนกันว่าเนื้อหาในสรุปของเราสอดคล้องกับสิ่งที่เราอธิบายมาทั้งหมดหรือไม่ และเราได้ตอบคำถามครบถ้วนทุกประเด็นตามสิ่งที่โจทย์ถามหรือไม่ ฉะนั้นอย่าลืมจบท้ายงานเขียนของเราให้สวย ๆ กันด้วยน้า
10. การฝึกฝนทำโจทย์ Structure and Essay
“Practice makes perfect.” สำนวนนี้จริงยิ่งกว่าจริงค่ะทุกคน หลายคนอาจจะรู้สึกท้อแท้เพราะคิดว่าตัวเองไม่ถนัด Grammar หรือการเขียนเอาซะเลย กลัวคะแนนจะออกมาไม่น่ารักเหมือนคนทำ (แหม!) แต่จริง ๆ แล้วการฝึกฝนที่ต่อเนื่องและสม่ำเสมอนี่แหละคือสิ่งที่จะช่วยให้คะแนนในสองส่วนนี้พัฒนาขึ้นได้ในที่สุดนะคะ
บางคนอาจจะมีคำถามว่าจะเริ่มต้นฝึกฝนทักษะเหล่านี้ยังไงดีนะ? คุณครูขอแนะนำว่าให้เริ่มจากการหาแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือที่ให้ความรู้เกี่ยวกับ Grammar and Structure และ Essay Writing เตรียมไว้ก่อนนะคะ จากนั้นลองตรวจสอบดูว่ามีหัวข้ออะไรบ้างที่เรายังทำได้ไม่ค่อยดี ก็ให้เน้นจากจุดนั้นก่อนเลยค่ะ
สมมุติว่า ถ้าเรายังไม่เข้าใจโครงสร้างประโยค ก็ลองศึกษาดูว่าส่วนประกอบของประโยคที่ถูกต้องตามหลักภาษาอังกฤษต้องมีอะไรบ้าง ใช้คำชนิดใดบ้าง และนำคำเหล่านั้นมาเรียงต่อกันอย่างไรให้ได้ใจความสมบูรณ์ หรือถ้าใครเขียนเรียงความยังไม่เก่ง ก็ลองเรียนรู้จากงานเขียนของคนอื่นให้ได้มากที่สุด พยายามเก็บคำศัพท์ สำนวนภาษา หรือวิธีการเขียนคำหรือประโยคให้ดูน่าสนใจ แล้วนำมาปรับใช้ในงานเขียนของเราอีกที อะไรทำนองนี้ค่ะ
หรือถ้าใครที่เริ่มเชี่ยวชาญแล้วก็ให้ลองฝึกตะลุยโจทย์เลยค่ะ แนะนำว่าควรเป็นโจทย์ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับข้อสอบจริงให้ได้มากที่สุดนะคะ เพื่อที่จะได้เกิดความคุ้นเคยกับรูปแบบคำถาม การคิดวิเคราะห์เพื่อหาคำตอบ และการบริหารเวลาให้เหมาะสมกับคำถามรูปแบบต่าง ๆ ค่ะ
แต่ถ้าใครต้องการเสริมความมั่นใจและอยากได้คำแนะนำพร้อมกับเทคนิคการทำข้อสอบ MUIDS TOEFL ITP และ Essay ที่ละเอียดกว่านี้ ก็มาให้คุณครูที่ House of Griffin ช่วยดูแลได้เลยนะคะ พวกเราพร้อมช่วยทำให้ทุกคนสอบติดที่ MUIDS แน่นอนจ้า