โดย Teacher Kong, House of Griffin

GED Essay เป็นข้อสอบในส่วนของวิชา GED Reasoning through Language Arts (RLA) เป็นการสอบเขียนเรียงความส่วนที่เรียกว่า Extended Response ซึ่งน้อง ๆ จะมีเวลาในการเขียนเรียงความทั้งหมด 45 นาที ลักษณะของเรียงความที่เขียนจะต้องเป็นการเขียนเรียงความแบบโต้แย้ง หรือ Argumentative Essay
หลังจากที่น้อง ๆ ได้อ่านข้อโต้แย้งเกี่ยวกับหัวข้อที่โจทย์กำหนดมาจากทั้งสองฝั่งแล้ว โจทย์ของเราคือการอธิบายว่า “เพราะอะไรข้อโต้แย้งจากฝั่งหนึ่งจึงดีกว่าอีกฝั่งหนึ่ง”
สิ่งที่เราจะต้องเขียน ก็คือ ต้องวิเคราะห์มุมมองของทั้งสองฝั่งและอธิบายว่าทำไมมุมมองนั้น ๆ จึงน่าเชื่อถือและดีกว่า โดยที่มุมมองเหล่านี้เราสามารถวิเคราะห์ได้จากบทความที่โจทย์ได้ให้มา ดังนั้นน้อง ๆ ไม่จำเป็นจะต้องคิดตัวอย่างใหม่ขึ้นมาเลย เพียงแค่ยกตัวอย่างจากสิ่งที่ได้อ่านไปแล้วเท่านั้น และให้ท่องไว้เสมอว่า โจทย์ของเราคือ “การวิเคราะห์” ไม่ใช่ “การแสดงความคิดเห็น”
ดังนั้นให้ตัดสินใจเลือกจากการอ่านว่า ความคิดเห็นของฝั่งใดฟังดูน่าเชื่อถือมากที่สุด และจะไม่มีการใช้คำพูดในการแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ เช่น “I think …” หรือ “I agree because….” หรือ “In my opinion…” เด็ดขาด
และเหตุผลประกอบการตัดสินใจว่าฝั่งใดฟังดูน่าเชื่อถือกว่าฝั่งใดนั้นจะมาจากบทความที่โจทย์ให้มาเท่านั้น “ห้ามคิดไปเอง”
ให้ใช้หลักฐานที่ได้จากการอ่านบทความ เช่น ค่าสถิติต่าง ๆ หรือข้อมูลที่ได้มานั้น มาจากองค์กรที่น่าเชื่อถือหรือไม่? หรือเป็นแค่เพียงการตีความไปฝ่ายเดียว
อีกสิ่งที่ต้องระวังให้ดีสำหรับการเขียน GED Essay คือ ห้ามทำการสรุปเนื้อหาของบทความลงไป เนื่องจากสิ่งที่น้อง ๆ ต้องเขียน คือบทวิเคราะห์ของเรา ไม่ใช่การสรุปเนื้อหาลงในงานเขียนของเรา
โดยสิ่งที่โจทย์เตรียมให้เรา จะมี 2 ส่วน ได้แก่
1. บทความจากทั้งสองมุมมอง ซึ่งขัดแย้งกัน
2. คำสั่งและสิ่งที่โจทย์ต้องการ
มาดูกันดีกว่าว่า การเขียนเรียงความใน GED นั้น มีโครงสร้าง หัวข้อ และรูปแบบการเขียนอะไรบ้าง
สิ่งที่ควรมีใน GED Essay
- มีจำนวนย่อหน้า อย่างน้อย 4 ย่อหน้า แต่ไม่ควรเกิน 7 ย่อหน้า แต่ละย่อหน้ามี 3 – 7 ประโยค โดยนับเป็นคำคร่าว ๆ อยู่ที่ 300-500 คำ
- ถ้าเขียนตอบสั้นจนเกินไปอาจมีผลทำให้คะแนนในส่วนการเขียนของน้อง ๆ เหลือ 0 ได้
- ระหว่างที่อ่านบทความที่โจทย์ให้มา ให้คิดเสมอว่าสิ่งที่เรากำลังมองหาจากการโต้แย้งของทั้งสองฝั่งนั้นคือ การตีความเหตุการณ์ คำกล่าวอ้าง คำกล่าวสนับสนุน การให้เหตุผล และความน่าเชื่อถือของผู้เขียนทั้งสองฝ่าย
โครงสร้างของ GED Essay
เรียงความที่ดีจะต้องมี บทนำ (Introduction), เนื้อหา (body) และบทสรุป (conclusion)
อย่างที่ทราบกันว่าจะต้องไม่มีการเขียนความคิดเห็นลงไปในงานเขียนของเรา แต่ให้วิเคราะห์และอธิบายว่าฝั่งที่เราเลือกนั้นน่าเชื่อถือกว่าอย่างไร โดยน้อง ๆ ไม่จำเป็นต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์อะไรมากมาย เพียงแค่เขียนให้ตรงกับสิ่งที่โปรแกรมตรวจต้องการก็เพียงพอแล้ว
หลักการฝึกฝนนั้น น้อง ๆ ควรฝึกเขียนเรียงความที่มีจำนวนคำอยู่ที่ 300-500 คำ โดยใช้หลักไวยากรณ์ที่ถูกต้องและควรให้ครูภาษาอังกฤษช่วยตรวจเรียงความของน้อง ๆ อย่างสม่ำเสมอ
ในส่วนของบทนำ (Introduction) จะเป็นการเกริ่นนำเข้าหัวข้อที่เรากำลังจะเขียนและให้บอกคำตอบ (Thesis Statement) ของเราออกไปตรง ๆ ว่าเราเลือกฝั่งใด
ในส่วนของเนื้อหา (body) เขียนให้เหตุผลประกอบหลักฐานต่าง ๆ ที่ได้จากการวิเคราะห์มา โดยเนื้อหาส่วนนี้จะมีความยาวมากที่สุดและควรมีอย่างน้อย 2 ย่อหน้า
ในส่วนของบทสรุป (conclusion) ให้ทำการสรุปเนื้อหาหลักและทวนคำตอบของเราซ้ำอีกครั้งหนึ่ง
GED Essay Topic
คลิกที่นี่ เพื่อดูตัวอย่างเรียงความ GED พร้อมคำอธิบาย
https://ged.com/wp-content/uploads/extended_response_resource_guide_taxation_revenue.pdf
การที่น้อง ๆ ได้ลองอ่านตัวอย่างเรียงความที่ดีจะช่วยให้เรามีภาพในหัวที่ชัดเจนขึ้นว่าทิศทางในการวางแผนการเขียนของเราควรเป็นไปในทิศทางไหน ซึ่งหลักการต่าง ๆ ที่ถูกพูดถึงไว้ข้างต้น ก็จะปรากฎอยู่ในตัวอย่างนี้ด้วยเช่นกัน และอย่าลืมว่า การใช้เครื่องหมายวรรคตอนต่าง ๆ (punctuation) และการพิมพ์ให้ถูกต้องก็เป็นส่วนหนึ่งของคะแนนที่น้อง ๆ จะได้
เทคนิคการเขียน GED Essay
1. อ่านโจทย์ให้เข้าใจ ตีโจทย์ให้แตก
เมื่อได้โจทย์มาแล้ว สิ่งที่ควรทำคือการใช้เวลาที่มีในการตีความโจทย์ให้เข้าใจก่อนเริ่มลงมือเขียนเสมอ และคิดให้ดี ๆ ว่า โจทย์อยากได้คำตอบแบบไหนจากเรา ซึ่งคำตอบก็คือ บทวิเคราะห์ ไม่ใช่ความคิดเห็นของเรานั่นเอง การเริ่มลงมือเขียนทันทีที่ได้โจทย์มา เพียงเพราะอยากจะรีบทำให้ทันใน 45 นาที อาจจะไม่ได้ทำให้เราได้คะแนนดีอย่างที่หวังไว้ การวิเคราะห์โจทย์ให้ดีและค่อย ๆ ลงมือเขียนให้ตรงจุดต่างหากที่จะทำให้เราได้คะแนนตามเป้าหมาย
2. เริ่มเขียนแพลนคร่าวๆ
โดยปกติแล้วแนะนำว่าให้ใช้เวลา 3-5 นาที ในการเขียนแพลนคำตอบของเราลงในที่ว่าง เพื่อกำหนดทิศทางคำตอบ และเป็นการเช็คคำตอบไปในเวลาเดียวกันว่าตรงกับที่โจทย์ถามหรือไม่ ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญมาก และหลาย ๆ ครั้ง ผู้เข้าสอบมักจะลืมหรือละเลยไป ทำให้ไม่ได้คะแนนอย่างที่ต้องการ เมื่อได้คำถามมาแล้ว ให้ทำการเขียนแพลน บทนำ (Introduction), เนื้อหา (body) และ บทสรุป (conclusion) โดยเขียนเป็นคำสั้น ๆ ที่สรุปคำตอบของเราไว้ อาจทำเป็น bullet points ก็ได้เพื่อเป็นการประหยัดเวลา
3. อย่าเขียนออกนอกเรื่อง
ในแต่ละย่อหน้าที่น้อง ๆ เขียนลงไป จะต้องเป็นการเขียนอธิบายว่าทำไมหลักฐานต่าง ๆ ที่น้อง ๆ เลือกยกตัวอย่างมานั้น สนับสนุนมุมมองของนักเขียนฝั่งที่เราเลือก และทำไมมันจึงดีกว่าของนักเขียนอีกคนหนึ่ง โดยจะเขียนอธิบายหรือพูดซ้ำก็ได้ สามารถใช้การใส่เครื่องคำพูด “…” เพื่อยกตัวอย่างประโยคที่เกี่ยวข้องลงไปในงานเขียนของเราได้ แต่ต้องระวังไม่ให้มากเกินไป จำไว้เสมอว่า ตัวอย่าง จะต้องน้อยกว่า คำอธิบายและบทวิเคราะห์ของเรา
นอกจากการยกตัวอย่างสนับสนุนฝั่งที่เราเชื่อแล้ว เราสามารถหาจุดอ่อนจากบทความของนักเขียนอีกฝั่ง เพื่อนำมาโจมตีถึงความไม่น่าเชื่อถือของหลักฐาน ได้เช่นเดียวกัน ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็เพื่อย้ำคำตอบ (Thesis Statement) ของเราว่า ทำไมเราจึงเลือกฝั่งนี้
4. ตรวจคำตอบและคำผิด
หลังจากน้อง ๆ เขียนเรียงความเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้ใช้เวลาที่เหลือในการอ่านทวนตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อเช็กว่างานเขียนของเรามีส่วนไหนที่เขียนผิดหลักไวยากรณ์ (grammar) หรือใช้เครื่องหมายวรรคตอน (punctuation) ผิดไปหรือไม่ การตรวจตรงนี้ก็จะช่วยให้งานของเราได้รับการตรวจโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์อย่างถูกต้องได้ง่ายขึ้น ถ้าจะให้ดีขึ้นไปอีก ในระหว่างที่เรากำลังตรวจคำผิดอยู่นั้น ให้เช็กด้วยว่าคำตอบของเรานั้น เขียนได้ตรงจุด เรียบเรียงได้เป็นระบบ และข้อมูลที่ใส่ลงไปนั้นแม่นยำตามโจทย์หรือไม่ ก็จะเป็นการทำให้มั่นใจว่าเรียงความของเรานั้นสมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่เราสามารถทำได้
เกณฑ์การให้คะแนนเรียงความ GED
ระบบการตรวจข้อสอบแบบเรียงความของ GED จะใช้คอมพิวเตอร์ที่มากับระบบอัลกอริทึมในการตรวจคำตอบที่ถูกต้อง ดังนั้น ไม่จำเป็นจะต้องแต่งคำให้สวยหรูมากจนเกินไปนัก ให้เน้นคำตอบที่ถูกต้องตามที่โจทย์ต้องการก็เพียงพอแล้ว
โดยมีหลักการในการตรวจอยู่ 5 เกณฑ์ ดังนี้
- การจัดเรียงข้อมูล: ผู้เขียนสามารถอธิบายความคิดใจกลางสำคัญออกมาได้ชัดเจนและเรียบเรียงออกมาได้ดีพอ
- การเขียนให้ตรงประเด็น: ผู้เขียนสามารถเขียนเนื้อหาออกมาให้ไปในทิศทางเดียวกัน
- การขยายความและใส่รายละเอียด: ผู้เขียนสามารถยกตัวอย่างที่เหมาะสมและข้อมูลเฉพาะที่ได้มาเพื่อสนับสนุนคำตอบของตนเองได้ โดยไม่ใช่เพียงเขียนออกมาเป็นข้อย่อยโดยไม่มีคำอธิบายหรือใช้ข้อมูลเดิมซ้ำ
- การใช้ไวยากรณ์ภาษาอังกฤษที่ถูกต้อง: ผู้เขียนใช้เทคนิคการเขียน โครงสร้างประโยค การสะกดคำ เครื่องหมายวรรคตอน และไวยากรณ์ที่ถูกต้อง โดยจะเห็นได้ชัดระหว่างผู้ที่ตรวจคำตอบที่ได้เขียนลงไปกับผู้เข้าสอบที่ไม่ได้ตรวจ
- การเลือกคำ: ผู้เขียนสามารถเลือกคำที่เหมาะสมในการอธิบายความคิด สื่อสารคำตอบออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติและแม่นยำเหมาะสมกับความหมาย
ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นภายใน 45 นาที ดังนั้นการบริหารเวลาในการเขียนวางแผน เขียนจริง และตรวจคำตอบ จึงสำคัญเป็นอย่างมาก สิ่งสำคัญคือต้องเขียนตอบให้ชัดเจนว่าเราเลือกฝั่งใด ไม่จำเป็นต้องเขียนให้ซับซ้อน แต่เขียนให้ชัดเจนและเรียบเรียงความคิดในแต่ละย่อหน้าให้ดี อาจฟังดูเหมือนยาก แต่การฝึกจากการดูตัวอย่างและคอยเช็กว่าสิ่งที่เราเขียนนั้นตรงกับที่กรรมการต้องการหรือไม่จากลิสต์ข้างต้น ก็จะช่วยให้เราเข้าใกล้เป้าหมายคะแนนที่น้อง ๆ ต้องการได้ง่ายขึ้น
ขอให้น้อง ๆ โชคดีกับการเตรียมตัวสอบ !!!