
สวัสดีครับ พี่ชื่อปังปอนด์ เป็นครูสอนภาษาอังกฤษประจำโรงเรียน House of Griffin ด้านการศึกษา จบปริญญาตรีจากโปรแกรม BJM หรือย่อมาจาก Bachelor of Arts Program in Journalism and Mass Communication หรือก็คือคณะคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ภาคภาษาอังกฤษ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นั่นเอง
ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีการสื่อสารรูปแบบต่าง ๆ ที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ อยู่แค่เพียงปลายนิ้ว ทำให้วงการสื่อสารมวลชนต้องพัฒนาตนเองไปตามพลวัตของสังคม การศึกษาด้านสื่อสารมวลชนจึงเป็นที่นิยมมากขึ้นไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือทั่วโลก สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจเรียนในด้านสื่อสารมวลชน แต่อาจยังไม่มั่นใจว่าเป็นคณะที่เหมาะสมสำหรับตัวเองหรือไม่ ในบทความนี้ พี่จะพาน้อง ๆ มาทำความรู้จัก BJM และสำรวจความสนใจของตัวเองไปพร้อมกัน โดยจะเล่าผ่านประสบการณ์การเรียนของพี่เองผ่านหัวข้อต่าง ๆ ดังนี้
ทำไมถึงเลือก BJM TU
พี่เลือกคณะ BJM ด้วยเหตุผลว่าสนใจด้านข่าว เพราะปกติชอบติดตามข่าวสารไม่ว่าจะเป็นในประเทศไทยหรือต่างประเทศ โดยเฉพาะข่าวด้านสังคม การเมือง และวัฒนธรรม และมีความฝันว่าอยากทำงานเป็นผู้ประกาศข่าวภาษาอังกฤษ และพอได้มาดูรายวิชาใน BJM พบว่ามีหลายวิชาที่ตรงกับความสนใจ เช่น วิชา News Reporting, Editorial and Article Writing และ Writing for Broadcasting and Digital Media จึงรู้สึกว่านี่คือคณะที่เหมาะสมกับตัวเอง ซึ่งในวิชาเหล่านี้ อาจารย์จะสอนว่าเวลาเราอ่านหรือรายงานข่าว มีประเด็นอะไรที่ต้องวิเคราะห์บ้าง เช่น การนำเสนอข่าวในประเด็นเปราะบาง เช่น ความรุนแรงต่อเด็ก หรือการใช้ภาษาอย่างไรในการรายงานข่าวที่จะไม่เป็นการเลือกข้างทางการเมือง หรือสิ่งที่ได้เรียนและชอบมากโดยส่วนตัวคือการฝึกเป็นผู้ประกาศข่าว โดยที่เราจะได้รับมอบหมายให้กำหนดประเด็นข่าวที่เราสนใจ และต้องลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูล สัมภาษณ์คนที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ รวมถึงรายงานข่าวแบบ stand-up reporting ด้วย เช่นในภาพด้านล่างนี้เลย ในภาพนี้เป็นการรายงานข่าวเรื่องการจราจรในมหาวิทยาลัย

เหตุผลที่สองคือบรรยากาศการเรียนที่ BJM เนื่องจากเป็นคณะภาคภาษาอังกฤษ ในแต่ละปีจึงมีนักศึกษาแลกเปลี่ยนจากประเทศต่าง ๆ เข้ามาเรียนด้วยกันเยอะมาก ซึ่งพี่มองว่าเป็นโอกาสที่ดีมากที่จะได้ทำความรู้จักและพูดคุยกับนักศึกษาเหล่านี้ เพื่อฝึกภาษาและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ซึ่งที่คณะจะมีโครงการบัดดี้ หรือการที่มหาวิยาลัยจับคู่เราให้กับนักเรียนแลกเปลี่ยน เพื่อให้เราได้ช่วยเหลือให้คำแนะนำนักศึกษาแลกเปลี่ยนในระหว่างที่เขามาเรียนที่ธรรมศาสตร์ ในรูปนี้คือนักเรียนจากประเทศเวียดนาม ฝรั่งเศส และอียิปต์ ที่มาเรียนที่ธรรมศาสตร์


และเนื่องจากนักเรียน BJM จะได้เรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ซึ่งเป็นแคมปัสที่มีพื้นที่กว้าง มีความเป็นธรรมชาติ รวมถึงมีกิจกรรมให้ได้ร่วมค่อนข้างเยอะมากเมื่อเทียบกับแคมปัสอื่น ๆ หนึ่งในกิจกรรมที่นักเรียน BJM และนักเรียนวารสารให้ความสนใจมากกิจกรรมหนึ่งคือ การทำละครวารสาร หรือละครเวทีประจำคณะ ที่มีการจัดทุกปี ตามในภาพนี้เลย

เรียน BJM ได้อะไรมากกว่าที่คิด เรียนรู้โดยตรงจากผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขา
นอกจากจะได้เรียนในวิชาที่ครอบคลุมด้านต่าง ๆ ของสื่อสารมวลชน ไม่ว่าจะเป็นด้านการทำข่าว การทำภาพยนตร์ ภาพถ่าย วิทยุ โทรทัศน์ หรือการทำโฆษณาแล้ว สิ่งที่มากกว่าความคาดหวัง คือ เมื่อเข้าไปเรียนใน BJM แล้ว อาจารย์ที่สอนในวิชาต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีชื่อเสียงโด่งดังในวงการสื่อสารมวลชน เรียกได้ว่า นักเรียน BJM ได้เรียนจากอาจารย์ที่เชี่ยวชาญในด้านเหล่านั้นจริง ๆ เช่น วิชา Speech Communication ซึ่งเรียนเกี่ยวกับการพูดต่อหน้ามวลชนและการเป็นพิธีกร ก็ได้เรียนกับอาจารย์เอ๋ พัชรี รักษาวงศ์ พิธีกรโทรทัศน์ MC และผู้ประกาศชื่อดังมาก ๆ คนหนึ่งของประเทศไทย โดยในวิชานี้อาจารย์เอ๋ก็ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการพูดอย่างไรให้คนฟังสนใจ การ project เสียง การวิเคราะห์ผู้ฟัง และเทคนิคการพูดอื่น ๆ

หรือในวิชา Radio and TV Production ซึ่งเรียนด้านการผลิตรายการวิทยุและโทรทัศน์ ก็ได้เรียนกับอาจารย์เต้ สุผจญ กลิ่นสุวรรณ พิธีกรรายการ English Breakfast หรือวิชา Global Media Industries ซึ่งเรียนเกี่ยวกับบทบาทของสื่อสารมวลชนในบริบทของการเมืองโลก ก็ได้เรียนกับอาจารย์วรนัยน์ วาณิชกะ บรรณาธิการบริหารนิตยสาร GQ


นอกจากอาจารย์ในวิชาต่าง ๆ ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ของวงการสื่อสารมวลชนแล้ว นักเรียน BJM ยังมีโอกาสได้เข้าฟังการสัมมนาจากแขกรับเชิญจากนอกมหาวิทยาลัยที่มาร่วมแลกเปลี่ยนและให้ความรู้ด้านต่าง ๆ ด้วย เช่น คุณวู้ดดี้-วุฒิธร มิลินทจินดา พิธีกรรายการ The Woody Show ที่มาแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงของวงการโทรทัศน์ไทย หรือ คุณได๋ ไดอาน่า จงจินตนาการ ที่มาให้ความรู้เรื่องการเป็นพิธีกรและการทำ voice-over


อีกสิ่งหนึ่งที่ประทับใจมากจากการเรียน BJM คือ โอกาสในการไปศึกษานอกสถานที่ เช่น ในวิชา Radio and TV Production ได้ไปศึกษาการทำงานการผลิตรายการวิทยุที่สถานีวิทยุ Virgin HitZ และที่สถานีโทรทัศน์ ThaiPBS ด้วย ซึ่งจากการไปศึกษานอกสถานที่ทำให้ได้เรียนรู้กระบวนการการทำงานด้านสื่อสารมวลชนอย่างจริง ๆ

อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเหตุผลให้หลายคนเลือกเรียน BJM คือ อุปกรณ์การเรียนที่ครบมาก เนื่องจากที่คณะวารสารมีสตูดิโอสำหรับการถ่ายทำรายการทีวีและภาพยนตร์ ซึ่งนักเรียนจะได้มาใช้งานกันในวิชา Film Studies และวิชา Short Film and Documentary Film Production หรือเมื่อถ่ายทำภาพยนตร์สั้นสำหรับโปรโมทงานต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัย (สามารถดูตัวอย่างวิดีโอโปรโมทโครงการค่ายรังนก หรือกิจกรรมแนะนำคณะวารสาร ซึ่งบางส่วนถ่ายทำในสตูดิโอของคณะได้ตามนี้เลย — เชิญมาค่ายรังนกกัน – RANG NOK LAND (The Parody of ‘Another Day of Sun’ Ost. LA LA LAND))

สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจเข้าคณะ BJM เนื่องจากสนใจงานด้านข่าว ในแต่ละปีจะมีรายการที่ชื่อว่า True Future Journalist Award (FJA) ซึ่งจัดโดยบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ร่วมกับสำนักข่าว BBC ซึ่งเป็นโครงการที่นักเรียนด้านสื่อสารมวลชนจากทั่วประเทศไทยมาเข้าร่วมแข่งขันเพื่อเฟ้นหานักข่าวแห่งอนาคตยอดเยี่ยมกันในแต่ละปี ซึ่งในปี 2017 พี่ได้ไปเข้าร่วมแข่งขันในฐานะตัวแทนจาก BJM กับนักเรียนกว่า 300 คนทั่วประเทศ และได้รับรางวัลชนะเลิศในปีดังกล่าว


จากการเข้าแข่งขันในรายการ FJA ในปี 2017 ทำให้พี่ได้มีโอกาสใช้ความรู้ด้านการทำข่าว จรรยาบรรณสื่อ และทักษะภาษาอังกฤษที่ได้มากจากการเรียนใน BJM รวมถึงเมื่อชนะการแข่งขันในรายการ FJA แล้ว ผู้ชนะในรายการจะได้โอกาสไปเข้าร่วม workshop ด้านการทำข่าวกับสำนักข่าว BBC ที่สำนักงานใหญ่ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งก็เป็นอีกโอกาสที่ดีมากสำหรับผู้ที่สนใจด้านการทำข่าวในการไปพัฒนาศักยภาพของตนเองจากการทำงานร่วมกับสำนักข่าวระดับโลกอย่าง BBC ด้วย

สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจเกี่ยวกับรายการ FJA สามารถอ่านบทความที่พี่เคยเขียนเล่าประสบการณ์ในรายการ FJA และการเข้าร่วม workshop กับ BBC ในลิงก์นี้ได้เลย (แชร์ประสบการณ์เข้าร่วมโครงการ นักข่าวแห่งอนาคต ทรู True Future Journalist Award)
การเตรียมตัวเข้าเรียนโปรแกรม BJM TU
น้อง ๆ ที่สนใจสอบเข้า BJM ควรเตรียมตัวโดยการสอบข้อสอบภาษาอังกฤษอันใดอันหนึ่งจากในตารางนี้ไว้ นักเรียนส่วนมากเลือกสอบ IELTS เพราะสามารถใช้ผลคะแนนยื่นสมัครได้หลายแห่ง
รวมถึงควรฝึกเขียน argumentative essay รวมถึงฝึกการตอบคำถามสัมภาษณ์ภาษาอังกฤษ เนื่องจากจะเป็นหนึ่งในข้อสอบคัดเลือกของ BJM นอกจากเตรียมตัวด้านภาษาอังกฤษแล้ว ยังควรทำความเข้าใจหรือติดตามประเด็นต่าง ๆ ในด้านสื่อสารมวลชน เนื่องจากอาจเป็นสิ่งที่น้อง ๆ เจอในข้อสอบเหล่านี้ได้ เช่น ประเด็นเรื่องเสรีภาพของสื่อ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อ เหตุการณ์ปัจจุบัน เช่น สถานการณ์โควิดในประเทศต่าง ๆ ความขัดแย้งในอัฟกานิสถาน ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ในจีน เป็นต้น โดยนอกจากน้อง ๆ จะรู้ว่าประเด็นเหล่านี้คืออะไรแล้ว ยังควรฝึกให้ความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าวด้วย
และนี่ก็คือการแนะนำ BJM หรือ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ภาคภาษาอังกฤษ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นั่นเอง หากใครมีคำถามเพิ่มเติม หรือสนใจเรียนภาษาอังกฤษสำหรับเตรียมตัวสอบ IELTS, SAT, TOEFL หรือการสอบสัมภาษณ์ภาษาอังกฤษเพื่อใช้ในการสอบเข้า BJM ก็สามารถมาปรึกษากับ House of Griffin เพื่อเตรียมตัวสอบให้ได้คะแนนตามเป้าหมายได้เช่นกัน