
สำหรับน้อง ๆ ที่มีความฝันอยากเรียนต่อมหาวิทยาลัยในต่างประเทศหรือหลักสูตรนานาชาติของมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศไทย คงจะคุ้นหูกับคำว่า SAT หรือที่ปัจจุบันเรียกว่า Digital SAT มาบ้างแล้ว เนื่องจากมหาวิทยาลัยจำนวนมากกำหนดให้คะแนน SAT เป็นหนึ่งในเกณฑ์สำคัญสำหรับการสมัครเข้าศึกษาต่อ ด้วยเหตุนี้ หลายคนจึงเริ่มวางแผนและเตรียมตัวสอบ SAT ตั้งแต่เนิ่นๆ แต่ก่อนจะสมัครสอบ SAT เราอยากให้น้อง ๆ มีเข้าใจให้ชัดเจนก่อนว่า SAT คืออะไร เพื่อให้ทุกคนสามารถประเมินความพร้อมของตนเองก่อนตัดสินใจสมัครสอบ
SAT คืออะไร? สอบอะไรบ้าง?
Scholastic Assessment Test หรือ SAT คือ การทดสอบมาตรฐานที่วัดความรู้ทางคณิตศาสตร์และทักษะภาษาอังกฤษด้านการอ่านและการเขียน ซึ่งจัดสอบโดย College Board สำหรับนักเรียนที่ต้องการเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันมหาวิทยาลัยนานาชาติทั่วโลกหลายแห่งได้นำ SAT มาเป็นหนึ่งในเกณฑ์การรับสมัครนักศึกษา รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน โดยตั้งแต่ปี 2566 การสอบ SAT ได้เปลี่ยนจากรูปแบบกระดาษเป็นการสอบออนไลน์ หรือที่เรียกว่า Digital SAT โดยใช้แอปพลิเคชัน Bluebook ซึ่งใช้ระบบ Adaptive Test ในการทดสอบ สำหรับรายละเอียดเนื้อหาการสอบจะประกอบไปด้วย 2 ส่วน ดังนี้
SAT Verbal
ส่วนนี้วัดความสามารถด้านการอ่านและการเขียนภาษาอังกฤษ (Reading & Writing) หรือที่บางคนนิยมเรียกว่า SAT Verbal โดยเน้นการทำความเข้าใจ วิเคราะห์ และการคิดอย่างมีเหตุผล เนื้อหาครอบคลุมหลากหลายสาขา ตั้งแต่สังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ไปจนถึงวิทยาศาสตร์และวรรณกรรม ผ่านการอ่านจับใจความบทความและเติมองค์ประกอบภายในประโยคให้สมบูรณ์ มีเกณฑ์การวัด 4 ข้อหลัก ๆ ดังนี้
- Craft and Structure วัดความเข้าใจในโครงสร้างและจุดประสงค์ของบทความ
- Words in Context การใช้คำศัพท์และวลีให้ตรงกับบริบท
- Text Structure and Purpose จุดประสงค์ของบทความ
- Cross-Text Connections เปรียบเทียบสองบทความที่เขียนเกี่ยวกับประเด็นเดียวกัน
- Information and Ideas วัดเรื่องการจับใจความและการใช้เหตุผล
- Central Ideas and Details หาใจความหลักของบทความ
- Command of Evidence (Textual, Quantitative) เลือกข้อมูลที่สนับสนุนสมมติฐานในบทความ ข้อมูลจะมาในรูปแบบข้อความและ Infographics เช่น ตาราง แผนภูมิ เป็นต้น
- Inferences สรุปข้อมูลในบทความ
- Standard English Conventions วัดการใช้ไวยากรณ์และโครงสร้างประโยคให้ถูกต้องตามหลักภาษาอังกฤษ
- Boundaries การใช้ Punctuations
- Form, Structure, and Sense การเรียบเรียงประโยคให้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์
- Expression of Ideas วัดทักษะการเรียบเรียงข้อมูล
- Rhetorical Synthesis การเลือกใช้ข้อมูลในแต่ละสถานการณ์ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
- Transitions การใช้คำเชื่อม
SAT Math
ในส่วนของ SAT Math ทางศูนย์สอบอนุญาตให้น้อง ๆ สามารถใช้เครื่องคิดเลข Demos (เครื่องคิดเลขที่อยู่ภายในแอปพลิเคชัน) หรือใช้ เครื่องคิดเลข SAT Math ได้อย่างอิสระ โดยเนื้อหาการสอบพาร์ทคณิตศาสตร์ก็แบ่งออกเป็น 4 หัวข้อหลัก ๆ ดังนี้
- Heart of Algebra (พีชคณิต) การแก้สมการทางคณิตศาสตร์โดยใช้ตัวแปรและค่าตัวเลข ระบบสมการเชิงเส้น, อสมการ, การแยกตัวประกอบพหุนาม, การแก้สมการยกกำลังสองและเลขยกกำลัง เป็นต้น
- Problem Solving and Data Analysis (การแก้ปัญหาและวิเคราะห์ข้อมูล) อัตราส่วน, ร้อยละ และการแก้โจทย์ปัญหา
- Advanced Math (การแก้สมการคณิตศาสตร์เชิงลึก) ฟังก์ชัน, ระบบสมการสองตัวแปร, จำนวนตรรกยะ, การหาค่าสัมบูรณ์ เป็นต้น
- Geometry and Trigonometry (เรขาคณิตและตรีโกณมิติ) สูตรการหาพื้นที่, จุดศูนย์กลาง, รัศมี, ตรีโกณมิติ, การอ่านกราฟ เป็นต้น
Adaptive Test รูปแบบใหม่การสอบ SAT
หลังจากที่ SAT ได้มีการปรับระบบใหม่มาเป็น Digital SAT ได้มีการนำเอาระบบ Adaptive Test เข้ามาใช้ประเมินความสามารถของผู้สอบ โดยจะนำเอาข้อสอบคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษมาคละกันและกระจายชุดข้อสอบออกเป็น 2 Modules โดยเมื่อเริ่มสอบจะแจกข้อสอบชุดแรก (Module 1) ให้ผู้สอบทุกคนเหมือนกัน หลังจากที่ผู้สอบทำข้อสอบชุดแรกเสร็จเรียบร้อย ระบบจะทำการวิเคราะห์คะแนนคร่าว ๆ และสุ่มคำถามชุดใหม่ให้เหมาะสมกับความสามารถของผู้สอบ หากน้อง ๆ ทำข้อสอบในชุดแรก (Module 1) ได้คะแนนสูง ระบบจะทำการสุ่มคำถามที่ยากขึ้นให้กับน้อง ๆ ในข้อสอบชุดที่ 2 (Module 2) แต่หากผู้สอบทำข้อสอบในชุดแรก (Module 1) ได้คะแนนน้อย ความยากของข้อสอบในชุดที่ 2 ก็จะลดลง ระบบนี้ออกแบบมาเพื่อให้การประเมินความสามารถของผู้สอบมีความแม่นยำมากขึ้น โดยปรับระดับความยากให้เหมาะสมกับทักษะของแต่ละคน ช่วยให้ผู้สอบสามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ และทำข้อสอบได้ครบทุกข้อ
ฝึกให้คุ้นเคยกับ Bluebook แอปพลิเคชันสำคัญในการสอบ SAT
หากน้อง ๆ ยังไม่รู้จักแอปพลิเคชันตัวนี้ แนะนำว่าอย่าเพิ่งสงสอบ SAT เด็ดขาด! เพราะเท่ากับว่าน้อง ๆ ขาดอาวุธสำคัญ เพราะการสอบ Digital SAT รูปแบบใหม่ต้องทำการสอบผ่านแอปพลิเคชันตัวนี้ ไม่ใช่การทำผ่านกระดาษเหมือนเมื่อก่อน ดังนั้นเราขอแนะนำให้น้อง ๆ ดาวน์โหลดแอปฯ Bluebook และทำความคุ้นเคยกับฟังก์ชันต่าง ๆ ล่วงหน้า เพื่อช่วยประหยัดเวลาและลดความกังวลในวันสอบจริง โดยตัวแอปพลิเคชันนี้ก็สามารถติดตั้งได้ทั้งบนคอมพิวเตอร์, แท็บเล็ต และ Chromebook ทุกระบบปฏิบัติการ ไม่ว่าจะเป็น Windows, MacOS, Android, iOS ก็สามารถติดตั้งได้ผ่านระบบ Wifi (ปัจจุบันยังไม่สามารถติดตั้งแอปพลิเคชันนี้ในมือถือได้) รายละเอียดเพิ่มเติมสำหรับอุปกรณ์ติดตั้ง Bluebook คลิก
สำหรับฟีเจอร์และเครื่องมือสำคัญภายในแอปฯ ตัวนี้จะช่วยให้น้อง ๆ ทำข้อสอบได้อย่างสะดวกมากขึ้น ซึ่งจะมีอะไรบ้าง มาดูกัน
- Testing Timer: นาฬิกาจับเวลาขณะทำข้อสอบแต่ละพาร์ท โดยหากรู้สึกกดดันหรือไม่ต้องการให้แสดงผลก็สามารถเลือกซ่อนฟีเจอร์นี้ได้ (หากกดซ่อนไว้จะมีการแจ้งเตือน 5 นาทีก่อนหมดเวลาทำข้อสอบในแต่ละพาร์ท)
- Calculator: เครื่องคิดเลขสำหรับใช้งานในพาร์ทคณิตศาสตร์ น้อง ๆ สามารถเรียกใช้งานเครื่องคิดเลขขณะทำข้อสอบพาร์ทคณิตศาสตร์ได้ทุกข้อ
- Reference Sheet: รวมสูตรคำนวณที่ใช้ในการแก้โจทย์ในพาร์ทคณิตศาสตร์ น้อง ๆ ไม่ต้องกังวลว่าจะลืมสูตรคำนวณ เพราะภายในแอปพลิเคชันจะมีการรวมสูตรคำนวณเอาไว้ให้แล้ว
- Annotate: เครื่องมือช่วยไฮไลท์ข้อความสำคัญในบทความ หรือหากต้องการจดโน๊ตสั้น ๆ ก็สามารถทำได้
- Mark for Review: เครื่องมือช่วยติดธงข้อคำถามที่ต้องการข้ามหรือกลับมาทบทวนคำตอบอีกรอบ
- Line Reader: เส้นคั่นบรรทัดที่ช่วยให้โฟกัสข้อคำถามได้ง่ายขึ้น โดยน้อง ๆ สามารถกดให้แสดงผลได้หากต้องการเรียกใช้งาน
- Option Eliminator: เครื่องมือช่วยตัดช้อยส์ข้อที่คิดว่าผิดออกไป (สามารถกดแก้ไขได้ในภายหลัง)
- Question Menu: เมนูเรียกดูข้อคำถามที่ข้ามไปก่อนหน้านี้ หรือคำถามที่ได้ติดธงเอาไว้เพื่อกลับไปทำข้อสอบให้ครบถ้วนก่อนส่งคำตอบ
- Zoom: ย่อ-ขยายหน้าจอเพื่อความสะดวกในการทำข้อสอบ
ฝึกทำข้อสอบในแอปพลิเคชัน Bluebook
น้อง ๆ สามารถทดลองฝึกทำข้อสอบและลองใช้งานฟีเจอร์ต่าง ๆ ภายในแอปพลิเคชันได้ โดยหลังจากสมัครสมาชิกเพื่อเข้าสู่ระบบแล้วจะสามารถเข้าถึงเมนู “SAT Test Preview” สำหรับการทดลองใช้งานแอปพลิเคชันคร่าว ๆ แบบไม่จับเวลาเพื่อทำความคุ้นเคยกับระบบการสอบ และเมนู “Full-length Practice” เพื่อทดลองทำข้อสอบแบบจับเวลาตามจริงได้
ทั้งนี้ การทดลองทำข้อสอบแบบ Full-length Practice จะมีข้อสอบให้ทดลองทำถึง 4 ชุด โดยระหว่างการทำสอบจะมีการจับเวลาตามจริง แต่น้อง ๆ สามารถหยุดทำข้อสอบด้วยการกด Save ระหว่างทำสอบได้ และหากต้องการทราบคะแนนก็เข้าไปตรวจสอบคะแนนที่ “My Practice” ได้เลย