Skip to content

เจาะลึกคณะ BBA จุฬาฯ คืออะไร เรียนเกี่ยวกับอะไร เปิดรับกี่รอบ ใช้วุฒิ GED ยื่นเรียนได้

น้องคนไหนสนใจเรียนต่อสายบริหารธุรกิจ หลักสูตรอินเตอร์ เชื่อว่าต้องมีคณะบริหารธุรกิจ หลักสูตรอินเตอร์ของจุฬาฯเป็นหนึ่งในตัวเลือกคณะในฝันอย่างแน่นอน วันนี้พี่กริฟฟินเลยจะพาทุกคนมาเจาะลึกข้อมูลเกี่ยวกับ BBA CU กันให้มากขึ้นว่าคณะนี้เรียนอะไร มีสาขาอะไรบ้าง ค่าเทอมเท่าไร มีเกณฑ์รับสมัครยังไง เรียนจบแล้วทำอาชีพอะไรได้บ้าง พร้อมแชร์เทคนิคเตรียมสอบเข้าคณะบริหารอินเตอร์ของจุฬากัน

คณะ BBA จุฬาฯ คืออะไร?

คณะ BBA จุฬาฯ คือ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หลักสูตรอินเตอร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคำว่า BBA ก็ย่อมาจาก Bachelor of Business Administration (บริหารธุรกิจบัณฑิต) ซึ่งอยู่ในความดูแลของ Chulalongkorn Business School (CBS) และเป็นหลักสูตรแรกของจุฬาฯที่เปิดสอนในรูปแบบภาษาอังกฤษทั้งหมด อีกทั้งยังผ่านมาตรฐานระดับสากลอย่าง “Triple Crown Accreditation” จากทั้ง AACSB (Association to Advance Collegiate Schools of Business) องค์กรรับรองสถาบันการศึกษาบริหารธุรกิจและการบัญชีระดับโลก, EQUIS (EFMD Quality Improvement System) ระบบรับรองคุณภาพของสถาบันการศึกษาบริหารธุรกิจในยุโรป และ AMBA (Association of MBAs) ที่เป็นองค์กรรับรองหลักสูตร MBA ระดับโลกอีกด้วย

BBA จุฬาฯ เรียนกี่ปี มีสาขาอะไรบ้าง

สำหรับคณะบริหารธุรกิจ อินเตอร์ของจุฬาฯ เป็นหลักสูตรปริญญาตรีแบบ 4 ปี โดยในช่วงปีแรกของการเรียนจะเป็นการเรียนรายวิชารวมเพื่อปูพื้นฐานเบื้องต้น ก่อนที่จะเลือกสาขาเฉพาะทางที่ต้องการต่อยอดการเรียนในปี 2-4 ได้ตามความต้องการ มีตัวเลือกสาขาการเรียน 2 สาขาใหญ่ ๆ ได้แก่

1. สาขาการบัญชี (Accounting)

เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นให้บัณฑิตได้เรียนรู้เกี่ยวกับหลักการทำบัญชีแบบเจาะลึกทั้งของในประเทศไทยและต่างประเทศ รวมไปถึงได้ศึกษาเกี่ยวกับข้อกฎหมาย ระบบภาษี หลักเศรษฐศาสตร์ การจัดทำรายงานด้านการบัญชีเชิงปฏิบัติ ตลอดจนการใช้งานซอฟต์แวร์ โปรแกรม และเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ในงานบัญชีเพื่อให้สามารถนำมาต่อยอดและปรับใช้เพื่อการทำงานด้านบริหารจัดการธุรกิจสมัยใหม่ได้อย่างคล่องแคล่ว เหมาะกับผู้ที่ต้องการประกอบอาชีพนักบัญชีที่สามารถเติบโตไปเป็น Auditor ในองค์กรระดับโลกได้

2. สาขาการบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Management)

สาขานี้จะมุ่งเน้นการพัฒนาบัณฑิตให้ก้าวทันโลกธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มีความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาและบริหารธุรกิจอย่างรอบด้านทั้งการจัดการธุรกิจ การวางแผนกลยุทธ์การตลาด, การวิเคราะห์ทางการเงิน รวมไปถึงการติดต่อกับคู่ค้าต่างประเทศเพื่อเติบโตไปเป็นผู้ประกอบการธุรกิจในระดับนานาชาติ มีตัวเลือกสาขาย่อยอีก 3 สาขา ดังนี้

  • สาขาการจัดการธุรกิจดิจิทัล (Digital Business Management) เป็นสาขาน้องใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวหลักสูตรไปในปี 2023 พัฒนาขึ้นมาเพื่อให้ตอบโจทย์โลกธุรกิจในยุคปัจจุบัน โดยจะเน้นไปที่การส่งเสริมทักษะด้านการบริหารจัดการและวิเคราะห์ธุรกิจเชิงดิจิทัลและ E-Commerce โดยนอกจากจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับหลักการบริหารธุรกิจและการขนส่งระหว่างประเทศแล้ว ยังได้ศึกษาเกี่ยวกับ Machine Learning และการเขียนโค้ดดิ้งเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลทางธุรกิจ เหมาะกับผู้ที่สนใจงานด้านการวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจ หรือประกอบธุรกิจที่เน้นการใช้เครื่องมือดิจิทัลเป็นหลัก
  • สาขาการวิเคราะห์การเงินและการลงทุน (Financial Analysis and Investment) หลักสูตรนี้จะมุ่งเน้นไปที่การศึกษาเกี่ยวกับหลักการทางเศรษฐศาสตร์ การวิเคราะห์จัดการการเงิน การบริหารงบการเงิน การวิเคราะห์ความเสี่ยงตลอดจนประเมินและคาดการณ์การลงทุนให้เกิดประโยชน์สูงสุด และจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้งานเครื่องมือวิเคราะห์ทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพร่วมด้วย เหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบตัวเลขและการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุน
  • สาขาการจัดการแบรนด์และการตลาด (Brand and Marketing Management) เน้นการศึกษาเกี่ยวกับการบริหารจัดการแบรนด์ วิเคราะห์กลไกทางการตลาดและศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อนำมาพัฒนากลยุทธ์ทางการตลาดทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ ส่งเสริมภาพลักษณ์และสร้างชื่อเสียงให้กับแบรนด์ ตลอดจนการวิเคราะห์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกมาให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค เหมาะกับผู้ที่ต้องการปั้นแบรนด์เป็นของตัวเอง หรือเป็นนักการตลาดให้แบรนด์ดัง ๆ

นอกจากจะสามารถเลือกสาขาการเรียนที่สนใจในช่วงปี 2-4 ได้แล้ว หลักสูตรบริหารธุรกิจ จุฬาฯ อินเตอร์ยังมีโครงการ Exchange Program ที่เปิดโอกาสให้นิสิตได้ไปเรียนแลกเปลี่ยนและฝึกงานที่ต่างประเทศได้ในช่วงปี 3 ได้เป็นจำนวน 1 ภาคการศึกษา ซึ่งก็มีมหาวิทยาลัยคู่ค้าให้เลือกไปแลกเปลี่ยนกว่า 100 แห่งทั่วโลกเลยทีเดียว รวมไปถึงโครงการนี้ยังมีการเปิดรับนักศึกษาต่างชาติจากมหาวิทยาลัยคู่ค้าให้สามารถเลือกเดินทางมาเรียนที่จุฬาฯ ได้ด้วยเช่นกัน ทำให้นิสิตได้มีโอกาสในการศึกษาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและสานสัมพันธ์กับเพื่อนชาวต่างชาติได้อย่างเท่าเทียมกัน

BBA จุฬาฯ ค่าเทอมเท่าไร?

ในส่วนของอัตราค่าเทอมของคณะบริหารธุรกิจ อินเตอร์ จุฬาฯ จะอยู่ที่เทอมละ 84,000 บาท และมีค่าธรรมเนียมมหาวิทยาลัยอีกเทอมละ 21,000 บาท ส่วนในช่วงซัมเมอร์จะมีอัตราค่าเทอมอยู่ที่ 36,000 บาท และค่าธรรมเนียมมหาวิทยาลัย 5,250 โดยรวมแล้วจะอยู่ที่ปีละประมาณ 210,000 บาท หรือ 251,250 บาท (กรณีลงเรียนซัมเมอร์) โดยจะมีรายละเอียดตามตารางด้านล่าง

ค่าเทอม ค่าเทอม (ปกติ) เทอมละ ค่าเทอม (ซัมเมอร์) เทอมละ
ค่าธรรมเนียมมหาวิทยาลัย 21,000 5,250
ค่าเทอม 84,000 36,000
รวมทั้งหมด 105,000 บาท 41,250
ค่าธรรมเนียมการสอบเข้า (จ่ายครั้งเดียว) 1,500
ค่าเทอมรวม 4 ปี + ค่าธรรมเนียมสอบเข้า 841,500 บาท (ไม่ลงเรียนซัมเมอร์) 1,006,500 (กรณีลงเรียนซัมเมอร์ทุกปี)

 

ทั้งนี้ สำหรับคนที่เข้าร่วมโครงการ Exchange Program เรียนแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศ จะต้องชำระค่าเทอมเพิ่มเติมตามอัตราที่มหาวิทยาลัยคู่ค้ากำหนด (งดเว้นค่าเทอมและค่าธรรมเนียมมหาวิทยาลัยที่จุฬาฯ ในเทอมที่ไปแลกเปลี่ยน)

เกณฑ์รับสมัครนิสิตคณะบริหารธุรกิจ อินเตอร์ จุฬาฯ

น้องคนไหนสนใจอยากเรียนต่อคณะบริหารธุรกิจ หรือเรียนต่อบัญชี จุฬาฯ อินเตอร์ แต่ยังไม่ทราบว่าต้องใช้คะแนนอะไรในการยื่นสมัครเรียน หรือต้องเตรียมตัวสอบอะไรบ้าง พี่กริฟฟินก็ได้เอาเกณฑ์การรับสมัครนิสิตพร้อมรอบการรับสมัครและจำนวนนิสิตที่เปิดรับต่อปีมาไว้ให้แล้ว

BBA จุฬาฯ รับปีละกี่คน เปิดรับนิสิตกี่รอบ

คณะนี้จะเปิดรับสมัครนิสิตรวมทั้งหมด 200 คน ปีละ 2 ครั้ง โดยจะแบ่งออกเป็นรอบ Early Admission และรอบ Admission ในระบบ TCAS โดยผู้สมัครทุกคนจะต้องเป็นผู้ที่กำลังศึกษา หรือจบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า (สามารถใช้การเทียบวุฒิ เช่น GED, IGCSE/ A level และวุฒิม.ปลายนานาชาติอื่น ๆ ยื่นสมัครเรียนได้) และมีเกณฑ์รับสมัครของแต่ละรอบตามตาราง ดังนี้

คะแนนผลสอบวัดระดับภาษาอังกฤษ (อย่างใดอย่างหนึ่ง) คะแนนผลสอบวัดความถนัดทางคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ (อย่างใดอย่างหนึ่ง) จำนวนนิสิตที่รับ
รอบ Early Admission (ปกติ) TOEFL (iBT) ≥ 79

IELTS ≥ 6.5

CU-TEP & Speaking ≥ 101

CU-AAT (Math & Verbal) ≥ 1200

SAT (Math & Verbal) ≥ 1270

180 คน
รอบ Early Admission (BBA-NextGen Admission)* TOEFL (iBT) ≥ 79

IELTS ≥ 6.5

CU-TEP & Speaking ≥ 101

CU-AAT (Math) ≥ 1230

SAT (Math) ≥ 1300

10 คน
รอบ Admission TOEFL (iBT) ≥ 79

IELTS ≥ 6.5

CU-TEP & Speaking ≥ 101

CU-AAT (Math & Verbal) ≥ 1200

SAT (Math & Verbal) ≥ 1270

10 คน

 

*ผู้ที่ลงสมัครในรอบ Early Admission (BBA-NextGen Admission) จะต้องแนบ Video Resume และ Portfolio ที่แสดงถึงความสามารถทางด้านวิชาการในระดับชาติ หรือระดับนานาชาติ ด้านธุรกิจ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือการสื่อสาร ควบคู่ไปกับใบสมัครด้วย

ทั้งนี้ ข้อมูลข้างต้นอ้างอิงมาจากประกาศรับสมัครนิสิตจากปีประกาศรับสมัคร 2568 โดยอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต น้อง ๆ สามารถรอติดตามประกาศรับสมัครนิสิตอย่างเป็นทางการจาก เว็บไซต์ ของคณะได้เลย

จบ BBA จุฬาฯ สามารถทำงานอะไรได้บ้าง เงินเดือนเท่าไร

ถ้าใครกังวลเรื่องการหางานในอนาคต ก็ขอบอกเลยว่าบัณฑิตที่เรียนจบจากหลักสูตรบริหารธุรกิจ จุฬาฯ มามีงานรองรับแน่นอน แต่ตัวอาชีพก็จะขึ้นอยู่กับ “สาขา” ที่น้อง ๆ เลือกเรียนด้วย ซึ่งถ้าใครอยากทำงานตรงสายการเรียนที่จบมา พี่กริฟฟินก็เอาตัวอย่างอาชีพพร้อมเงินเดือนเริ่มต้นเฉลี่ยมาฝากกัน (ขอบคุณข้อมูลเงินเดือนจาก JobsDB)

สาขาการบัญชี (Accounting)

สำหรับคนที่เลือกเรียนสาขาการบัญชีก็มี “อาชีพ” รองรับแบบแน่นอน เพราะอาชีพสายการบัญชีเป็นตำแหน่งที่ “ทุกบริษัท” จำเป็นต้องมี จึงมีอัตราการรับสมัครสูงอยู่ตลอดเวลาและมีโอกาสตกงานต่ำมาก รวมไปถึงยังมีบริษัทที่เป็นความใฝ่ฝันของสายอาชีพนี้อย่าง “BIG 4” อย่าง Deloitte, Ernst & Young (EY), PricewaterhouseCoopers (PwC) และ Klynveld Peat Marwick Goerdeler (KPMG) ที่เป็นบริษัทบัญชีชื่อดังระดับโลก โดยอาชีพในสายงานการบัญชีก็มีตัวเลือกสายงาน ดังนี้

  • นักบัญชีทั่วไป เงินเดือนเริ่มต้น 19,000 – 30,000 บาท
  • นักบัญชีการเงิน เงินเดือนเริ่มต้น 22,000 – 35,000 บาท
  • นักบัญชีภาษี เงินเดือนเริ่มต้น 33,000 – 55,000 บาท
  • เจ้าหน้าที่ทางการเงิน เงินเดือนเริ่มต้น 22,000 – 27,000 บาท
  • นักตรวจสอบบัญชี เงินเดือนเริ่มต้น 31,000 – 50,000 บาท
  • พนักงานเร่งรัดหนี้สิน เงินเดือนเริ่มต้น 55,000 – 65,000 บาท
  • เจ้าหน้าที่วิเคราะห์การเงิน เงินเดือนเริ่มต้น 40,000 – 64,000 บาท
  • ผู้ตรวจสอบงบการเงิน เงินเดือนเริ่มต้น 30,000 – 45,000 บาท

สาขาการจัดการธุรกิจดิจิทัล (Digital Business Management)

ในส่วนของการเรียนสาขาด้านการจัดการธุรกิจดิจิทัลนั้นก็เป็นอีกสาขาที่สามารถนำเอาทักษะและความรู้ที่เรียนมาไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพได้อย่างหลากหลาย ทั้งในสายธุรกิจและสายการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งในอนาคตที่ตลาด E-Commerce และการทำธุรกิจบนแพลตฟอร์มดิจิทัลเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ก็คาดว่าจะมีตัวเลือกอาชีพมากเพิ่มขึ้นอีก

  • UX/UI Designer เงินเดือนเริ่มต้น 30,000 – 50,000 บาท
  • นักวิเคราะห์ข้อมูล เงินเดือนเริ่มต้น 30,000 – 43,000 บาท
  • นักวิเคราะห์ธุรกิจ เงินเดือนเริ่มต้น 35,000 – 58,000 บาท
  • นักวิเคราะห์ระบบธุรกิจ เงินเดือนเริ่มต้น 30,000 – 43,000 บาท
  • นักวิเคราะห์การตลาด เงินเดือนเริ่มต้น 35,000 – 45,000 บาท
  • นักการตลาดดิจิทัล เงินเดือนเริ่มต้น 34,000 – 43,000 บาท
  • นักวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ทางธุรกิจ เงินเดือนเริ่มต้น 34,000 – 53,000 บาท
  • นักวิเคราะห์ข้อมูลการขาย เงินเดือนเริ่มต้น 37,000 – 49,000 บาท
  • ที่ปรึกษาด้านการจัดการธุรกิจ เงินเดือนเริ่มต้น 30,000 – 55,000 บาท

สาขาการวิเคราะห์ทางการเงินและการลงทุน  (Financial Analysis and Investment)

งานในสายการเงินและการลงทุนนั้นไม่ได้มีเฉพาะแค่งานพนักงานธนาคารทั่วไปเท่านั้น แต่ในธุรกิจและอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ ก็มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินและการลงทุนไว้เพื่อช่วยในการบริหารจัดการความเสี่ยงในการทำธุรกิจด้วยเช่นกัน จึงมั่นใจได้เลยว่าลงเรียนสาขานี้จบมามีงานทำแน่นอน ตัวเลือกอาชีพในสายนี้ ได้แก่

  • พนักงานธนาคาร เงินเดือนเริ่มต้น 35,000 – 39,000 บาท
  • เจ้าหน้าที่การเงินทั่วไป เงินเดือนเริ่มต้น 22,000 – 27,000 บาท
  • พนักงานสินเชื่อ เงินเดือนเริ่มต้น 17,000 – 30,000 บาท
  • เจ้าหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อ เงินเดือนเริ่มต้น 38,000 – 60,000 บาท
  • นักวิเคราะห์การเงิน เงินเดือนเริ่มต้น 25,000 – 40,000 บาท
  • นักวิเคราะห์การลงทุน เงินเดือนเริ่มต้น 37,000 – 68,000 บาท
  • นักวางแผนทางการเงิน เงินเดือนเริ่มต้น 36,000 – 50,000 บาท
  • ที่ปรึกษาทางการเงิน เงินเดือนเริ่มต้น 30,000 – 58,000 บาท
  • เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ทางการเงิน เงินเดือนเริ่มต้น 40,000 – 64,000 บาท

สาขาการจัดการแบรนด์และการตลาด (Brand and Marketing Management)

สายงานด้านการตลาดและการจัดการแบรนด์ก็เป็นอีกสาขาที่กำลังมาแรง เพราะในยุคที่ธุรกิจต้องแข่งขันกันอย่างเข้มข้น ผู้ที่มีแผนกลยุทธ์ทางการตลาดที่ดีก็จะช่วยเพิ่มยอดขายและสร้างรายได้ให้ธุรกิจขับเคลื่อนไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยการเรียนในสาขานี้ก็สามารถนำเอาความรู้ไปประกอบอาชีพได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น

  • นักการตลาด เงินเดือนเริ่มต้น 21,000 – 40,000 บาท
  • นักการตลาดดิจิทัล เงินเดือนเริ่มต้น 34,000 – 43,000 บาท
  • เจ้าหน้าที่ประสานงานการตลาด เงินเดือนเริ่มต้น 22,000 – 25,000 บาท
  • นักวิเคราะห์การตลาด เงินเดือนเริ่มต้น 35,000 – 45,000 บาท
  • นักวางแผนยุทธศาสตร์ทางการตลาด เงินเดือนเริ่มต้น 34,000 – 53,000 บาท
  • เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ เงินเดือนเริ่มต้น 24,000 – 28,000 บาท
  • เจ้าหน้าที่ประสานงานอีเวนท์ เงินเดือนเริ่มต้น 22,000 – 29,000 บาท
  • เจ้าหน้าที่ฝ่ายขายและการตลาด เงินเดือนเริ่มต้น 23,000 – 31,000 บาท
  • ผู้พัฒนาแบรนด์สินค้า เงินเดือนเริ่มต้น 38,000 – 65,000 บาท

นอกจากนี้ หลักสูตรบริหารธุรกิจ จุฬาฯ ยังสอดแทรกความรู้ด้านการเป็นผู้ประกอบการเอาไว้ในทุกสาขาการเรียน ดังนั้นถ้าหากใครมีเป้าหมายในการสร้างธุรกิจเป็นของตัวเองก็สามารถเริ่มต้นได้ไม่ยากเลย

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการเรียน BBA จุฬาฯ

เรียน GED ยื่นเข้า BBA จุฬาฯ ได้ไหม ?

เข้าได้แน่นอน เพราะเกณฑ์การรับสมัครของคณะระบุว่ารับวุฒิม.6 หรือเทียบเท่า จึงสามารถใช้วุฒิ GED และวุฒินานาชาติอื่น ๆ ที่เทียบเท่าระดับมัธยมปลายยื่นเข้าเรียนต่อได้ โดยผู้ที่ยื่นวุฒิ GED ในการสมัครเรียนจะต้องมีคะแนนขั้นต่ำอย่างน้อย 145 คะแนนขึ้นไปในทุกรายวิชา และต้องทำการ แปลงคะแนนและยื่นเทียบวุฒิ ให้เรียบร้อยก่อนการยื่นสมัครเรียน

คณะบริหารธุรกิจ อินเตอร์ จุฬาฯ เหมาะกับใคร ?

คณะนี้เหมาะกับน้อง ๆ ที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการ สร้างธุรกิจเป็นของตัวเอง หรือทำงานในองค์กรธุรกิจระดับนานาชาติในสาขาการบัญชีและการเงิน

อยากเรียนต่อ BBA CU ต้องเตรียมตัวยังไง ?

สำหรับน้องคนไหนที่อยากเรียนต่อในคณะนี้ พี่กริฟฟินก็ขอแนะนำให้เริ่มเตรียมตัวสอบวัดระดับภาษาอังกฤษและฝึกทำข้อสอบความถนัดทางคณิตศาสตร์ให้พร้อม เพราะการจะเข้าเรียนที่นี่จะต้องใช้คะแนนทั้ง 2 ส่วนในการยื่นสมัครเรียน ซึ่งคณะนี้ก็ถือว่าเป็นคณะที่มีการแข่งขันกันค่อนข้างสูงและคะแนนเฉลี่ยสูงขึ้นในทุกปี ดังนั้นถ้าเตรียมตัวอ่านสอบตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็จะมีเวลาในการทบทวนเนื้อหาการสอบมากขึ้น แต่สำหรับน้องคนไหนที่มีเวลาจำกัดและมองหาตัวช่วยในการติวสอบ ก็สามารถเลือกติวสอบกับ House of Griffin ได้เลย เพราะมีทั้งคอร์สติวสอบ GED, IELTS TOEFL CU-TEP CU-AAT และ SAT ให้เลือกเรียนแบบครบถ้วนทุกความต้องการ โดยนอกจากทุกคอร์สจะสอนโดยครูผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์หลายปีแล้ว ยังมีทีมวิชาการคอยช่วยเหลือน้อง ๆ ทุกคนในทุกขั้นตอนอีกด้วย

Share this article